วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ว่าด้วยเรื่อง “ #โปรตีน #กล้ามเนื้อ #สารอาหาร #สารก่อภูมิแพ้ ตอนที่ 3/3“

สิ่งที่ต้องดูเมื่อจะซื้อ เวย์โปรตีน

1. ความต้องการ ว่าซื้อเพื่ออะไร ถ้าลดน้ำหนักเราก็ต้องระวังเรื่องปริมาณน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตและแคลอรี ที่มากเกินพอดี  หากซื้อเพราะกินเพื่อเพิ่มโปรตีนเพื่อรักษาโรค หรือสำหรับคนป่วย ก็ต้องหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งที่ไม่จำเป็น หรือสารต้องห้ามสำหรับคนป่วยบางโรค หรือกินเพื่อสร้างกล้ามเนื้ออันนี้ก็เน้นโปรตีน กรดอะมิโนให้ครบถ้วนและเลือกประเภทการดูดซึมไปใช้

2. ราคา เอาที่สบายใจ จ่ายไหว เพราะเวย์โปรตีนราคาแพงกว่าโปรตีนในอาหารอยู่แล้ว และราคาขึ้นกับขั้นตอนการผลิต ประเภทโปรตีนที่เราต้องการด้วย หรือบางท่านที่สร้างอาชีพก็เลือกกินในแบรนด์ที่ตนเองจำหน่ายเพื่อประโยชน์หลายต่อ

3. ความคุ้มค่า ก็เทียบจากสารอาหารโดยรวมที่ได้ ,ปริมาณ Serving ต่อบรรจุภัณฑ์เพื่อดูว่าจะกินได้กี่มื้อ, ปริมาณโปรตีนที่จะได้รับ(อ่านฉลากและหมายเหตุดีๆนะคะ)

4. ความปลอดภัย ดูจาก 4 อย่างคือ 
4.1  วันหมดอายุ ที่มักเขียนเป็น 2 แบบคือ Expired Date คือ วันหมดอายุ คือกินไปภายในวันนี้เที่ยงคืนกับ Best Before Date คือ ควรบริโภคก่อน นั่นก็คือ ถ้าเขียน 31/01/2018 ก็ควรกินให้หมดภายในวันที่ 30 มกราคม 2561 
4.2 หมายเลขทะเบียนอย. ที่ออกโดยสนง.อาหารและยาไทยนะคะ โดยเฉพาะของนำเข้า ดูสักนิดที่ฉลาก
4.3 คนสูงอายุ คนป่วยมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะตับ ไต หรือเบาหวาน ต้องปรึกษาหมอก่อนเลือกซื้อนะคะ เพราะส่วนประกอบบางตัว ต้องห้ามสำหรับบางโรค บางโรคกินไม่ได้ อย่าตามเทรนด์ค่ะ
4.4 คนแพ้อาหาร เช่น นม แลคโตส ถั่วเหลือง หรือ ปลา ที่อาจเป็นส่วนประกอบในโปรตีนเชค
แพ้อะไรต้องหลีกเลี่ยงตัวนั้นโดยการอ่านฉลากอย่างละเอียด เพราะบางคนแพ้น้อยก็แค่ท้องเสีย คัน ผื่นขึ้น แต่คนแพ้มากๆนี่ช้อค หัวใจวายตายได้

เรียบเรียงโดย naamfon surada 25/11/2560

ว่าด้วยเรื่อง “ #โปรตีน #กล้ามเนื้อ #สารอาหาร #สารก่อภูมิแพ้ ตอนที่ 2/3“

โดยทั่วไปร่างกายต้องการโปรตีนนำมาสร้างกล้ามเนื้อ เอนไซม์ ฮอร์โมน และภูมิคุ้มกัน การสร้างกล้ามเนื้อได้จากการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ (resistance training) เพื่อให้โปรตีนได้ทำหน้าที่สร้างกล้ามเนื้อเต็มที่ โปรตีนที่เกินจำเป็นถ้าใช้ไม่หมดจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานและเมื่อพลังงานเกินพอจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันต่อไป คนทั่วไปต้องการโปรตีน 0.8-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่น มีน้ำหนักตัว 69 กิโลกรัมควรกินโปรตีนวันละ 55 - 69 กรัม ร่างกายจึงจะได้รับโปรตีนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แต่ถ้าเป็นนักกีฬาความต้องการโปรตีนจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 1 - 1.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในกีฬาแต่ละประเภท
การกินเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะจะได้โปรตีน 7 กรัม ถ้ากินเนื้อสัตว์มื้อละ 8 ช้อนโต๊ะจะได้โปรตีน 28 กรัมต่อมื้อ
ทั้งวันก็จะได้โปรตีน 84 กรัม ถ้ากินเวย์โปรตีน 1 ช้อนต่อวันจะได้โปรตีนเพิ่ม 12.5 กรัม รวมจะได้โปรตีนในวันนั้น 96.5 กรัม เท่ากับได้รับโปรตีน 1.4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ซึ่งการกินโปรตีน 96.5 กรัมต่อวันก็จะเป็นตัวเลขที่มากกว่าน้ำหนักตัวและเป็นการกินเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
ในระยะเวลาจำกัด 3 เดือนหรือ 6 เดือนไม่ได้กินตลอดไป ดังนั้นคำตอบก็คือสามารถกินโปรตีน (เป็นกรัม) ในปริมาณที่มากกว่าน้ำหนักตัวได้ ยกเว้นว่ามีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไตอยู่ก่อนแล้วการกินโปรตีนมากเกินไปจะทำให้ไตต้องทำงานหนักมากเกินไปและเสื่อมเร็วขึ้นกว่าเดิมได้
ที่มา เพจ พบหมอ อาจารย์พีระพรรณ โพธิ์ทอง นักวิชาการโภชนาการ 2พ.ค. 2557
=============================================================
“ทั้งนี้ นพ.นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายว่า 
ประโยชน์-โปรตีนทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ เป็นสารเคมีที่ใช้ในการสื่อสารของเซลล์ในร่างกาย สร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง เป็นส่วนประกอบในเลือดเพื่อไม่ให้นํ้ารั่วไหลออกมา และช่วยให้เลือดอยู่ระดับปกติ หากขาดโปรตีนไปจะทำให้เกิดภาวะเลือดจาง ตัวเหลือง ตาเหลือง และดีซ่าน
นอกจากนี้ยังเป็นโครงสร้างสำคัญของกล้ามเนื้อ ช่วยเรื่องการเจริญเติบโต สำคัญมากในเด็กกำลังเจริญเติบโต และคนที่เป็นแผล ไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก เป็นต้นนั้นต้องการโปรตีนสูงเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
        อย่าง เวย์โปรตีนก็เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สกัดมาจากผลิตภัณฑ์ของนมและชีส ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้เร็ว จนได้รับความนิยม แต่อาจจะต้องมีเทคนิคในการรับประทาน เช่น รับประทานก่อนเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย แต่โดยทั่วไปแล้วเวย์โปรตีนค่อนข้างราคาแพง ในขณะที่นํ้านมแม่ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสำหรับทารกมาก ๆ นั้นพบว่า มีเวย์โปรตีนมากกว่าในนํ้านมวัว เช่นเดียวกับไข่ขาวนี่ของดีโปรตีนสูงมากแถมยังราคาถูกอีกด้วย

ข้อควรระวัง-หากได้รับโปรตีนในปริมาณที่เกินความต้องการตับและไตจะจะทำงานหนักมากขึ้น และก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเลือดเป็น กรดได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับ ไต นั้น อวัยวะทั้ง 2 อย่างจะยิ่งทำงานหนักขึ้น และเกิดภาวะไต ตับเสื่อมเร็ว
ในกรณีการทำงานของตับที่มีปัญหาเดิมอยู่จะไม่สามารถดูดซึมโปรตีนได้ แต่กลับส่งโปรตีนไปที่ลำไส้ใหญ่ และถูกแบคทีเรียบริเวณนั้นทำการเปลี่ยนแปลงโปรตีนให้เป็นสารประกอบแอมโมเนียและดูดซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้สมองเสื่อม เกิดภาวะ ซึม ชัก หมดสติ หรือตับเสื่อม ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน
ที่มา เดลินิวส์ 15พ.ย.2557”
=============================================================    
        ดร.นพ.ประสงค์ เทียนบุญ หัวหน้าทีมวิจัยทางคลินิคด้วย HMS 90 บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ถึงการค้นพบการใช้เวย์โปรตีนไอโซเลตเสริมอาหารให้กับผู้ป่วยโรคตับอักเสบจากการคั่งสะสมของไขมันในตับที่มิได้มีสาเหตุมาจากการเสพแอลกอฮอล     
        สำหรับเวย์โปรตีนที่นำมารักษาโรคนี้จะแตกต่างกับเวย์โปรตีนที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปเพราะเวย์โปรตีนนี้จะเป็นชนิดพิเศษ(เป็นการสกัดเวย์โปรตีนจากนมวัวโดยใช้อุณภูมิต่ำทำให้ได้สาร "ซีสตีน"ในปริมาณที่สูงในขณะที่ปริมาณของกรดอะมิโนก็มีมากกว่า)
ที่มา ผู้จัดการรายสัปดาห์ 3 ส.ค. 2551

เรียบเรียงโดย naamfon surada 25/11/2560

ว่าด้วยเรื่อง “ #โปรตีน #กล้ามเนื้อ #สารอาหาร #สารก่อภูมิแพ้ ตอนที่ 1/3“

บังเอิญต้องกินอาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนัก(ทำน้ำหนักเสียตังค์ ลดน้ำหนักยังต้องมาเสียตังค์อีก 😑) แล้วด้วยที่เราเรียนกันมาเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ฉลาก และโภชนาการบ้าง ทำให้ค้องอ่านฉลาก บวกกับสิ่งที่เก็บข้อมูลมา เลยเอามาแชร์กัน ว่าด้วยเรื่องของ โปรตีนชงดื่มที่มี Allergen (สารก่อภูมิแพ้เป็นส่วนประกอบ)
จริงๆโปรตีนหาได้ในอาหารทั่วไป แต่คนที่ต้องการ ควบคุมน้ำหนัก กับ สร้างกล้ามเนื้ออาจจะไม่สะดวก หากต้องการความรวดเร็วและคุมพลังงาน ดังนั้นทางเลือกก็มีในโปรตีนที่ชงดื่มได้ หรือเรียก โปรตีนเชค ที่เอา โปรตีนผงมาชงดื่ม ที่ต้องเชคเพราะมันละลายยากหน่อย ชงน้ำร้อนๆก็ไม่ได้ ต้องเขย่าๆออกกำลังแขนเอา

🏋🏻‍♀️🏋🏻‍♂️เลือก #เวย์โปรตีน #WheyProtein powder ให้เหมาะกับตัวเอง🏋🏻‍♀️🏋🏻‍♂️
 #ประเภทของเวย์ 
1. Whey Protein Concentrate (WPC) 
🅿️การสกัด-เป็นโปรตีนตั้งต้นได้จากการนำเวย์ที่ได้ในกระบวนการผลิตขั้นต้นมาผ่านการกรอง Ultrafiltration เพื่อแยกน้ำตาลแลกโตส(Lactose)และไขมันนม(Milk Fat) ออกไป แล้วทำให้แห้ง (Dehydration)ด้วยเครื่องพ่นฝอย (Spray Drier) ผงเวย์ที่ได้จะมีความเข้มข้นของโปรตีนอยู่ที่ 29 – 89% ลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อนและมีกลิ่น รส ตามธรรมชาติ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนทั้ง 20 ชนิดและ 8 ชนิดที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ และยังมี BCAAs (Branched-chain Amino Acids) ช่วยกระตุ้นการหลั่ง Growth Hormone ที่ไปกระตุ้นการย่อยสลายและสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย จึงทำให้สามารถดูดซึมโปรตีนไปสร้างกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงมีแลคโตสเหลือ 4-52%
⭕️ข้อดี-ของ WPC คือมีราคาถูกกว่าเวย์ชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่ต้องผ่านกรรมวิธีมากเหมือนเวย์ประเภทอื่น ทำให้เวย์ราคาย่อมเยาว์นั้นจะมีส่วนประกอบของ WPC มากกว่า
❌ข้อเสีย-ของ WPC เนื่องจากมีน้ำตาลแลคโตสอยู่จำนวนนึง ในบุคคลที่แพ้แลคโตสอาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืดเหมือนกับการดื่มนมได้
❇️เหมาะสำหรับบุคคลประเภทใด: บุคคลปกติที่ไม่มีปัญหาอาการแพ้แลคโตสและแพ้โปรตีนในนม

2. Whey Protein Isolate (WPI)
🅿️การสกัด-ได้มาจากการนำ WPC มาผ่านกระบวนการผลิต Cross-flow Microfiltration เพื่อแยกน้ำตาลแลกโตส(Lactose)และไขมันนม(Milk Fat) ที่ยังคงมีผสมอยู่บ้างออกไปอีก ทำให้ความเข้มข้นของเวย์เพิ่มขึ้นไปอีกถึง 90 – 94% และจะมีแลคโตสและไขมันปนมาแค่ 0.5-1 % เท่านั้น 
⭕️ข้อดี-ของ WPI จะเห็นได้ว่ามีโปรตีนที่บริสุทธิ์กว่า คนที่ไม่ย่อยแลคโตสกินได้
❌ข้อเสีย-ของ WPI คือราคาแพงกว่า และสูญเสียโปรตีนที่มีคุณค่าอย่าง Beta-lactoglobulin และ Lactoferrin
❇️เหมาะสำหรับบุคคลประเภทใด: บุคคลที่มีอาการแพ้แลคโตสในนม ถ้าแพ้โปรตีนในนมก็ทานไม่ได้ค่ะ

3. Whey Protein Hydrolysate (WPH)
🅿️การสกัด-ผ่านกระบวนการ Hydrolyze ทำให้โมเลกุลของเวย์ที่มีขนาดใหญ่ถูกย่อยลงมาอยู่ในรูปโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่า Peptides และบางส่วนถูกย่อยลงไปถึงขั้นกรดอะมิโนเลยทีเดียว 
⭕️ข้อดี-เป็นเวย์โปรตีนที่ถูกย่อยและดูดซึมได้เร็วที่สุด และก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่าเวย์ชนิดอื่น จึงมักใช้ในสูตรนมทารกหรือในวงการแพทย์
❌ข้อเสีย-ของ WPH เนื่องจากว่าเป็นเวย์ที่ผ่านกรรมวิธีมากที่สุด ทั้งการสกัดให้บริสุทธิ์และการย่อยให้เป็นโปรตีนสายสั้นๆ จึงทำให้ WPH มีราคาสูงกว่าเวย์ชนิดอื่นๆ และมีรสขมมาก
❇️เหมาะสำหรับบุคคลใด: เหมาะสำหรับบุคคลที่แพ้โปรตีนและแลคโตสในนม(ถ้าไม่มีการเติมเพิ่ม)

4. Whey Blend
เวย์ชนิดนี้คือเวย์ผสม มีส่วนประกอบของโปรตีนแบบผงเช่น WPC, WPI, WPH, โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง, โปรตีนสกัดจากไข่ขาว และอื่นๆ มาผสมกัน หรืออาจเป็นโปรตีนแต่ละตัวเติมสารอาหาร แร่ธาตุ
ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยแต่ละตัวคือ
- เคซีน โปรตีน (Casein Protein) เป็นส่วนผสมระหว่างโปรตีน 80% ในนม ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยช้า แต่ผลดีที่ได้จากการถูกย่อยอย่างช้า ๆ คือการดูดซึมเพื่อนำไปสู่กล้ามเนื้อจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่สม่ำเสมอ โปรตีนเชคชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับดื่มเป็นของว่างก่อนเข้านอน อีกทั้งมันยังอุดมไปด้วย กลูตามีน (Glutamine) กรดอะมิโนซึ่งจะช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับบาดเจ็บด้วย  
-โปรตีนถั่วเหลือง (Soy Protein)  โปรตีนถั่วเหลืองมีทั้งกลูตามีน (Glutamine) อาร์จินีน (Arginine) รวมทั้งวาลีน (Valine), ไอโซลิวซีน (Isoleucine) และลิวซีน (Leucine) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนจำเป็นต่อการเสริมสร้างและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังพบว่ามีคลอเรสเตอรอลชนิดมีประโยชน์ (HDL) จึงพบว่าการทานโปนตีนเชคที่ได้จากถั่วเหลืองช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ด้วย  เหมาะกับคนกินเจหรือเป็นมังสวิรัติ    
-โปรตีนไข่ขาว (Egg Albumin) คือโปรตีนที่สกัดได้จากไข่ขาว อันเป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด และเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ที่แพ้นม ทั้งนี้โปรตีนในรูปของเอ้ก อัลบูมิน แบบผง อุดมไปด้วยโปรตีนมีประโยชน์ไม่ต่างจากในรูปไข่ขาวทั้งฟอง แต่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการรับประทานมากกว่าการต้มไข่เพื่อกินเฉพาะไข่ขาว จึงถือเป็นโปรตีนเชคที่สามารถดื่มได้ตลอดทั้งวัน นับเป็นของว่างโปรตีนสูงอีกหนึ่งรายการที่เหมาะมากกับผู้ที่ออกกำลังกาย 

⭕️ข้อดี-ได้รับโปรตีนจากหลายแหล่งซึ่งปริมาณสารอาหารอาจแตกต่างกัน
❌ข้อเสีย-Whey Blend อาจมีส่วนผสมของ WPC และ WPI จึงอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับบุคคลที่แพ้โปรตีนในนมและบุคคลที่แพ้แลคโตสหรือโปรตีนในส่วนผสมอื่นๆ
 ❇️เหมาะสำหรับบุคคลใด: เหมาะสำหรับบุคคลที่ไม่แพ้โปรตีนในอาหาร 

อย่างไรก็ตาม เวย์โปรตีนเหล่านี้จะมีการถูกนำไปเป็นส่วนผสม ปรับปรุงสูตร เติมสารอาหารให้เหมาะแก่ผู้บริโภคแต่ละประเภท ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเลือกให้ถูกต้อง ปลอดภัย ตรงตามความต้องการ ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวถึงบทต่อๆไป

อ้างอิงจาก Y. H. Lee, The Journal of pediatrics 121 (1992),food wiki ,แปลจาก Wikipedia และจากการรวมรวมข้อมูลจากบทความทางการแพทย์และโภชนาการ,www.thaihow.com ,www.kapook.com

เรียบเรียงโดย naamfon surada 25/11/2560

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

Food News by ACFS up 12.11.17

ฝรั่งเศสออกระเบียบติดฉลากแสดงคุณค่าทางโภชนาการ
                เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 รัฐบาลฝรั่งเศสลงนามออกระเบียบการติดฉลากรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Nutri-score หวังช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพิ่มมาตรฐานด้านคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร และป้องกันการเกิดโรค พร้อมต่อยอดผลักดันเพื่อใช้ทั้งสหภาพยุโรป
                ข้อกำหนดการติดฉลากรูปแบบใหม่จะกำหนดให้มีการแสดงคุณค่าทางโภชนาการไว้บริเวณด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ โดยแสดงเป็นสีตั้งแต่สีเขียวแก่ถึงสีส้มแก่ร่วมกับตัวอักษร A ถึง E ซึ่งอักษร A หมายถึงมีคุณค่าทางโภชนาการดีที่สุด E คือมีคุณค่าทางโภชนาการด้อยกว่า
                ทางการฝรั่งเศสกล่าวว่า รูปแบบการติดฉลากในลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจและเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ง่าย และหวังว่าผู้บริโภคจะนำไปใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อสินค้า อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดโรคกลุ่ม NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน) การบริโภคที่ไม่สมดุลและภาวะอ้วนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังจะพยายามผลักดันให้กลุ่มสหภาพยุโรปใช้ระบบดังกล่าวอีกด้วย
ที่มา: foodnavigator.com สรุปโดย: มกอช. 


ไต้หวัน แจ้งพบไข่ปนเปื้อน fipronil เพิ่ม
                สภาเกษตรไต้หวัน (COA) แจ้งผลการสุ่มตรวจสอบไข่ไก่ภายในฟาร์มสัตว์ปีก ที่เมือง Changhua พบมีการปนเปื้อนสาร Fipronil เพิ่ม ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ประกาศสั่งห้ามฟาร์มสัตว์ปีกดังกล่าวเคลื่อนย้ายไข่กว่า 8000 ฟอง ออกจากพื้นที่ พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ และสั่งเรียกคืนที่วางจำหน่าย
                ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ดำเนินการสอบสวนผู้ประกอบการฟาร์มสัตว์ปีก ซึ่งให้การปฏิเสธว่าไม่เคยใช้สารดังกล่าวภายในฟาร์ม จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจมาจากการใช้สาร Fipronil ในภาคการเกษตร โดยก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการปนเปื้อนสาร Fipronil ในฟาร์มสัตว์ปีกจำนวน 3 แห่ง ที่เมือง Changhua โดยมีปริมาณตกค้างสูงสุดอยู่ที่ 5 ppb เมื่อเดือน สิงหาคม 2560
ข่าวเพิ่มเติม  
http://www.acfs.go.th/warning/viewEarly.php?id=6001
 
ที่มา: thepoultrysite.com สรุปโดย: มกอช. 


รัสเซียแบนสินค้านำเข้าเพิ่มเติมอีกหลายรายการ
                รัสเซียขยายการแบนสินค้าเกษตร วัตถุดิบและสินค้าอาหารนำเข้าจากประเทศ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ยูเครน อัลเบเนีย มอนเตเนโกร ไอซ์แลนด์ และ ลิกเตนสไตน์ อีกหลายรายการ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ประกอบด้วย
- สุกรมีชีวิต (ยกเว้นพ่อแม่พันธุ์แท้)
- ผลพลอยได้จากวัว สุกร แกะ แพะ ม้า ลิง ล่อ ที่ใช้รับประทานได้ ทั้งในรูปสินค้าสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง ยกเว้นสินค้าที่ใช้ในการผลิตยา
- ไขมันที่แยกได้จากเนื้อสุกร และไขมันสัตว์ปีก ทั้งในรูปสินค้าสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง เติมเกลือ แช่ในน้ำซอส ทำแห้งหรือรมควัน
- ไขมันและน้ำมันหมู ไขมันจากสัตว์ปีก แกะ วัว และแพะ
- น้ำมันหมู สเตียริน (stearin) จากสุกร oleostearin, oleo oil หรือน้ำมันที่ได้จากสัตว์อี่นๆ รวมทั้งที่ผ่านกระบวนการเพิ่มความคงตัว (emulsified) และผสมหรือเตรียมได้จากวิธีอื่นๆ
                   ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรรัสเซียชี้แจงว่าการห้ามนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ
ที่มา: government.ru สรุปโดย: มกอช.

(BAP_ACC) Best Aquaculture Practices Certification Standards Guidelines

1 . Finfish and Crustacean Farms Best Aquaculture Practices Certification Standards, Guidelines
Finfish and Crustacean Farm Standard (FCFS)  Issue 2.4 – 23-May-2017

click this Link

2. Feed Mill Best Aquaculture Practices Certification Standards, Guidelines
Feed Mills Issue 2.1 – 23-May-2017

click this Link

AUS-NEWZ Food Allergen_ลูปินเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่บังคับให้แสดงฉลากในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

     ลูปินเป็นพืชสกุล Lupinus และเป็นส่วนหนึ่งของตระกูล Leguminosae โดยปกติแล้วเมล็ดลูปินมีการบริโภคในพื้นที่เมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันพบการบริโภคแป้งลูปินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในออสเตรเลีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยออสเตรเลียมีการผลิตได้ถึงร้อยละ 75-80 ของผลิตภัณฑ์ลูปินทั้งหมดในโลกและเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก การใช้แป้งลูปินในผลิตภัณฑ์อาหารครอบคลุมหลากหลายประเภท เช่น พาสต้า ขนมปัง เค้ก พิซซ่า ครีมชีส ไส้กรอกเต้าหู้ เครื่องเทศ แยม ก๋วยเตี๋ยว ซอสมะเขือเทศ

     เนื่องจากกฎระเบียบมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีการเปลี่ยนแปลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลูปินถูกจัดเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ดังนั้นจึงต้องแจ้งการมีอยู่ของลูปินเมื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารหรือองค์ประกอบของส่วนผสมรวมถึงสารปรุงแต่งอาหาร (Food Additives) และสารช่วยในกระบวนการผลิต (Processing Aids) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าว สภาอาหารและร้านขายของชำในออสเตรเลียและสถาบันโรคภูมิแพ้ (Allergen Bureau) ได้ออกเอกสารแนะนำสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมเรื่องเวลา เพื่อให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ ทั้งกรณีที่ใช้ลูปินเป็นส่วนผสมโดยตรงและจากการปนเปื้อน 

     ในยุโรปมีเอกสารและรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับการแพ้ลูปินและมีกรณีการแพ้อย่างรุนแรง ดังนั้นสหภาพยุโรป (กฎระเบียบสหภาพยุโรป เลขที่ 1169/2011) จึงให้ลูปินเป็นสารก่อภูมิแพ้บังคับที่จำเป็นต้องติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีลูปินทั้งหมด การแพ้ลูปินในออสเตรเลียมีรายงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 ว่าทำให้เกิดการแพ้ที่รุนแรง โดยไม่มีปฏิกิริยาข้ามกับถั่วลิสงหรือถั่วเหลือง Campbell และคณะ (2550) ได้รายงานความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันของผู้ป่วยที่แพ้ลูปินในระหว่างการทดสอบทางผิวหนัง (Skin Prick Testing, SPT) พบว่าความไวและอาการแพ้ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดปฏิกิริยาข้ามกับพืชตระกูลถั่วชนิดอื่นๆ ในการศึกษาของ Goggin และคณะได้ทดสอบทางผิวหนัง (SPT) จากผู้ป่วยที่แพ้ลูปินสิบราย พบผู้ป่วย 3 รายให้ผลการทดสอบเป็นบวกกับถั่วลิสงและถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการแพ้ลูปินที่ไม่ได้เผยแพร่ในออสเตรเลียอีก 3 ฉบับ ข้อสรุปจากสำนักมาตรฐานอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (FSANZ) พบรายงานผู้ป่วยที่แพ้ถั่วลิสงที่มีผลต่อลูปินในเด็กร้อยละ 25 และในผู้ใหญ่ร้อยละ 41 ตามลำดับ การศึกษาของ Foley และคณะแสดงให้เห็นว่าซีรั่มของผู้ป่วยที่แพ้ลูปินจะจับกับโปรตีนของลูปินที่แตกต่างกัน

     ด้วยคุณค่าทางโภชนาการและความชื่นชอบลูปินส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของลูปินมีจำนวนเพิ่มขึ้น (ในออสเตรเลียและทั่วโลก) ความแตกต่างของการประยุกต์ใช้ลูปินในผลิตภัณฑ์อาหารมักส่งผลให้การแสดงฉลากของลูปินไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งไม่มีความชัดเจน การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีลูปินเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การแพ้ลูปินเพิ่มขึ้น จากหลักฐานการแพ้ลูปินในออสเตรเลียและการประเมินความเสี่ยงที่ดำเนินการโดยสำนักมาตรฐานอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้สรุปข้อมูลทางคลินิกในออสเตรเลียเกี่ยวกับการแพ้ลูปินว่าตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญต่อเกณฑ์สากลสำหรับสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่

ที่มา www.ifrpd-foodallergy.com

กฎระเบียบของสารก่อภูมิแพ้และเครื่องมือใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

กฎระเบียบของสารก่อภูมิแพ้และเครื่องมือใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา                                               

     กฎระเบียบและเครื่องมือใหม่มีการกำหนดเป้าหมายบุคลากรและผู้ประกอบการในสถานประกอบการที่ให้บริการอาหารโดยตรงแก่ผู้บริโภคที่เป็นภูมิแพ้อาหาร เช่น ร้านอาหาร โรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านอาหารต่างๆ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคที่เป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งความพยายามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่ามีการพัฒนามาตรการต่างๆ ตามที่รัฐและรัฐบาลกลางมุ่งสนับสนุนผู้ผลิตอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยงที่ดำเนินการตามโครงการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพ้อาหารโดยไม่คาดคิด

การสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของลูกค้าที่แพ้อาหารในภัตตาคาร

     อิลลินอยส์ร่วมกับรัฐแมรีแลนด์ แมสซาชูเซตส์ มิชิแกน โรดไอแลนด์และเวอร์จิเนีย ในความพยายามปกป้องผู้บริโภคที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหาร จากมาตรา 5 ของกฎหมายว่าด้วยการบังคับใช้ การควบคุมการปฏิบัติงานทางด้านอาหาร (410 ILC 625) ได้มีการแก้ไขในหัวข้อ 3.06 และเพิ่มเติมในหัวข้อที่ 3.07 ใหม่ โดยเพิ่มเติมกฎระเบียบให้สถานประกอบการอาหารที่จัดตั้งต้องมีผู้จัดการด้านสุขาภิบาลบริการอาหารตามมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับภายในประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเข้าใจของสารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้กฎระเบียบยังระบุว่าควรมีผู้จัดการอย่างน้อยหนึ่งคนในช่วงเวลาทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่เสิร์ฟในร้านอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่เป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนข้ามของสารก่อภูมิแพ้ให้น้อยลงและได้ให้ข้อมูลของสารก่อภูมิแพ้ที่ถูกต้องแก่ลูกค้า โดยกฎระเบียบใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป

การควบคุมสารก่อภูมิแพ้ในโรงเรียน

     นอกเหนือจากความช่วยเหลือที่ทางโรงเรียนได้รับจากองค์กรผู้บริโภคที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โครงการวิจัยและการศึกษาโรคภูมิแพ้อาหาร (FARE) โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีการริเริ่มเพื่อสนับสนุนสถาบันเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2556 ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้เผยแพร่แนวทางในการบริหารจัดการโรคภูมิแพ้อาหารในโรงเรียนและโปรแกรมการดูแลเด็กก่อนวัยโดยความสมัครใจ ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ทาง CDC ได้ออกชุดเครื่องมือการแพ้อาหารในโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยเอกสารและเนื้อหาการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีบทบาทแตกต่างกัน (เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ พยาบาลประจำโรงเรียนและพนักงานขนส่ง)

ผู้จัดทำแผนความปลอดภัยด้านอาหาร

     ในส่วนของโปรแกรมที่สนับสนุนผู้ผลิตอาหารที่สอดคล้องกับกฎระเบียบความปลอดภัยอาหารที่ทันสมัย (Food Safety Modernization Act, FSMA) ซึ่งทางสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำแผนความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety Plan Builder, FSPB) ที่เป็นเครื่องมือเสริม เพื่อช่วยในการพัฒนาแผนงานด้านความปลอดภัยในอาหารอย่างเฉพาะเจาะจงและเป็นไปตามข้อกำหนดของวิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารในปัจจุบัน (current Good Manufacturing Practices, cGMP) การวิเคราะห์อันตรายและการควบคุมความเสี่ยงตามกฎระเบียบทางด้านอาหารของมนุษย์ตามแผนความปลอดภัยในอาหารที่เผยแพร่ นอกจากนี้องค์การอาหารและยาได้มีการพัฒนาวิดีโอฝึกอบรมและคู่มือผู้ใช้งาน เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้เข้าใจเครื่องมือตามหัวข้อของการควบคุมความปลอดภัยต่างๆ แผนความปลอดภัยในอาหารรวมถึงส่วนที่กำหนดเป้าหมายไว้เฉพาะสำหรับการควบคุมป้องกันโรคภูมิแพ้อาหาร ในส่วนของคำถามและข้อมูลเพิ่มเติมทางองค์การอาหารและยาได้จัดเตรียมอีเมลล์สำหรับติดต่อที่: FoodSafetyPlanBuilder@fda.hhs.gov



ที่มา www.ifrpd-foodallergy.com