วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Japan Food News_ญี่ปุ่น: MHLW ปรับปรุงค่า MRL สารตกค้าง ครั้งที่ 194 และ 195

 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และ 23 กันยายน 2559 กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุน (MHLW) ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานค่าสารเคมีตกค้าง (MRL) ตามพระราชบัญญัติสุขอนามัยอาหารญี่ปุ่น ครั้งที่194 และ195 (The 194th& 195th Conference for Promotion of Food Import Facilitation) มีสาระสำคัญดังนี้
         1. กำหนดค่า MRL ของสารกำจัดรา Chinomethionat และ Mepanipyrim สารกำจัดไร Cyflumetofen สารกำจัดวัชพืช Saflufenacil สารกำจัดพยาธิ Imicyafos ฮอร์โมนพืช Abamectin และ Prohexadione-calcium และยาสัตว์ Altrenogest, Closantel และ Lomefloxacin ในสินค้าเกษตรต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานค่า MRL โดยจะมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นสำหรับผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร รายละเอียดตามตารางในหน้า 6-24  โดยกำหนด Uniform limit ที่ 0.01 ppm ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฏในตารางค่า MRL ยกเว้นยาสัตว์ Lomefloxacin ที่ห้ามพบการตกค้าง
               2. กำหนดค่า MRL ของสารกำจัดรา Hexaconazole, Prothioconazole, Pyriofenone, Simeconazole และ Thifensulfuron methyl สารกำจัดแมลง Lepimectin และ Spirotetramat สารกำจัดวัชพืชPrometryn และ Thifluzamide และยาสัตว์ Albendazole ในสินค้าเกษตรต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานค่า MRL โดยมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นกับอาหารและผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิดของไทย รายละเอียดตามตารางหน้า 6-23 โดยกำหนด Uniform limit ที่ 0.01 ppm ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฏในตารางค่า MRL
              3. พิจารณากำหนดวิธีทดสอบสำหรับยาสัตว์ Coumaphos หรือ Coumafos ซึ่งกฎหมายญี่ปุ่นห้ามพบการตกค้างในอาหารทุกประเภท รายละเอียดตามตารางหน้า 23-33  โดยกำหนด Limit of quantification ที่ 0.01 mg/kg
               เอกสารแนบ: รายละเอียดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานค่าสารเคมีตกค้างของ MHLW ครั้งที่ 194 และ 195

http://www.acfs.go.th/news/docs/25_11_59_194th.pdf
 
 
 สรุปโดย: มกอช.

Thailand Food News_กุ้งไทยเฮ เม็กซิโกเลิกแบนกุ้งแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาได้เชิญเจ้าหน้าที่จากเม็กซิโกมาตรวจประเมินระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของกรมประมง รวมทั้งโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งเม็กซิโกพอใจและเชื่อมั่นการดำเนินการของไทย จึงยกเลิกประกาศห้ามนำเข้ากุ้ง ที่ระงับไปตั้งแต่ปี 2556 โดยมีเงื่อนไขว่าไทยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัย และส่งตัวอย่างใบรับรองสุขอนามัยของสินค้าภายใน 15 วัน ทั้งนี้ คาดว่ากุ้งล็อตแรกจะสามารถส่งออกได้ประมาณช่วงเดือนมกราคม 2560
                อย่างไรก็ตาม เม็กซิโกเป็นประเทศที่ผลิตกุ้งได้เช่นเดียวกับไทย การระงับนำเข้ากุ้งช่วงเกิดโรคกุ้งตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome : EMS) นั้น เนื่องจากกังวลว่าจะส่งผลให้กุ้งที่ผลิตในเม็กซิโกได้รับความเสียหายไปด้วย โดยการกลับมาเปิดตลาดครั้งนี้ ไทยไม่ได้หวังจะเพิ่มปริมาณการส่งออกกุ้งได้มากขึ้น แต่ขอทวงคืนตลาด และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตกุ้งของไทยในตลาดโลกมากขึ้น
 
ที่มา: rakbankerd  สรุปโดย: มกอช.

Hongkong Food News_ฮ่องกงพบปูขนนำเข้าจากจีนปนเปื้อนสาร Dioxin

ฮ่องกงระงับการนำเข้าปูขนจากมณฑล Jiangsu ของจีน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เนื่องจากพบการปนเปื้อนสาร Dioxin และสารคล้าย PCBs เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในปูขน 3 ตัวอย่าง จาก 6 ตัวอย่างที่สุ่มที่ด่านนำเข้าและร้านค้าปลีก ทั้งนี้ ศูนย์ความปลอดภัยอาหารของฮ่องกง เผยผลการสืบสวนในเบื้องต้นโดยคาดว่าปูขนที่ปนเปื้อนสารดังกล่าวอาจปลอมปนจากฟาร์มแห่งหนึ่งซึ่งถูกระงับการส่งออกไปก่อนหน้าด้วยสาเหตุเดียวกันนี้
                   ปัญหาการตรวจสอบสินค้าปูขนปนเปื้อน Dioxin ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานสินค้า Dioxin ที่แตกต่างกันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง เนื่องจากจีนไม่ได้กำหนดค่าสารตกค้างสูงสุดของสารดังกล่าว ในขณะที่ฮ่องกงมีการกำหนดปริมาณสูงสุดไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้กรณีนี้ผู้นำเข้าจึงต้องได้รับการลงโทษทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับเงินจำนวน 50,000 เหรียญฮ่องกงหรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
 

ที่มา: Food Safety News.com สรุปโดย: มกอช.

China Food News_กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยแพร่ กม. Food Safety จีน ฉบับแปลไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยแพร่ กม.ความปลอดภัยอาหารจีน ค.ศ. 2015 ฉบับแปลไทย
                  กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับปี ค.ศ. 2015 ได้ผ่านการประกาศใช้แทนกฎหมายฉบับเดิม ปี 2009 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ได้จัดแปลกฎหมายดังกล่าวเป็นฉบับภาษาไทย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ (เอกสารแนบ)
http://www.acfs.go.th/news/docs/Early_warning_Thai_18_11_59.pdf

                ในส่วนของความเคลื่อนไหวอื่นๆ ภายใต้กฎหมายความปลอดภัยอาหารจีน ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 จีนได้ประกาศ Order27 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้าสินค้าอาหารออนไลน์ รายละเอียดตามข่าว http://www.acfs.go.th/read_news.php?id=14103&ntype=07 (18 พฤศจิกายน 2559)


ข้อมูลโดย: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

EU Food News_สหภาพยุโรป ห้ามการใช้สารสกัดจากผักหมักในปลาทูน่าสด

คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ห้ามประเทศสมาชิกใช้วิธีการฉีดสารสกัดจากผักหมัก (fermented vegetable extract) ในปลาทูน่า เพื่อทำให้เนื้อปลามีสีแดงสด และได้แจ้งเวียนให้ภาคอุตสาหกรรมทราบแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยเฉพาะในปลาทูน่าคุณภาพต่ำ เพื่อทำให้ดูเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมและสามารถขายได้ในราคาสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

                ก่อนหน้าการประกาศห้ามของคณะกรรมธิการยุโรป พบว่าบางประเทศอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวเป็นสารปรุงกลิ่นรส ในขณะที่บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรห้ามใช้วิธีการและสารดังกล่าวในปลาทูน่า สืบเนื่องจากความไม่ชัดเจนและความแตกต่างในในแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศสมาชิก หน่วยงาน Seafish ของสหราชอาณาจักรร่วมกับผู้นำเข้าหลักจากประเทศสมาชิกได้ผลักดันอย่างเข้มข้นเพื่อขอความชัดเจนจากคณะกรรมธิการยุโรป

                ทั้งนี้ พบว่าปลาทูน่าที่ผ่านวิธีการฉีดสารสกัดผักหมัก ไม่มีความแตกต่างเชิงรสชาติจากปลาทูน่าที่ไม่ผ่านวิธีการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถสังเกตุความแตกต่างได้จากสีที่สดใส บรรจุภัณฑ์ด้วยสูญญากาศ ภายในบรรจุภัณฑ์พบของเหลวปริมาณมากซึ่งไม่ใช่เลือดปลาทูน่า นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะติดฉลากการใช้สาร antioxidants เช่น E-331(โซเดียม ซิเตรท), E300 (กรดแอสคอร์บิก), E301(โซเดียม แอสคอร์เบท) และเกลือ นอกจากนี้ หากปลาทูน่าดังกล่าวสัมผัสกับอากาศภายนอกจะเปลี่ยนสีเป็นสีดำ

ที่มา thefishsite.com สรุปโดย มกอช. 

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

China Food News_ข่าว กฎระเบียบ มาตรฐานอาหารของจีน

นำเข้าหมูจีนรุ่ง ฝั่ง EU ส่วนแบ่งตลาดลดฮวบ
                     จีนนำเข้าหมูเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 160 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการปกป้องผู้ค้าในประเทศที่ลดระดับลงประกอบกับอุปสรรคจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่มุ่งจะแก้ไขปัญหามลภาวะเป็นพิษที่เกิดจากการผลิตและภาคการเกษตรในประเทศ

              อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งการตลาดของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้ส่งออกหมูรายใหญ่เข้าสู่ตลาดจีนกลับลดลงกว่าร้อยละ 5 เนื่องจากมีคู่แข่งใหม่อย่างบราซิลที่สามารถเปิดตลาดส่งออกเนื้อหมูมายังจีนได้ และทางสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็สามารถผลิตเนื้อหมูปลอดฮอร์โมนส่งออกมายังจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
 
ที่มา globalmeatnews.com
สรุปโดย มกอช.

จีนเข้ม! จัดระเบียบนำเข้าข้าว ย้ำผู้ประกอบการไทยปฏิบัติเคร่งครัด
                จีนเพิ่มมาตรการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของข้าวนำเข้า ภายใต้กฎหมายความปลอดภัยด้านอาหาร และกฎหมายการกักกันโรคพืชและสัตว์ ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยต้องดำเนินการตาม “พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกข้าวไทยไปจีน” (เอกสารแนบ 1) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) รวมทั้งมาตรฐานคุณภาพ สุขอนามัยพืช และปริมาณสารตกค้าง
 
                เพื่อป้องกันปัญหาในการส่งออกข้าวไปจีน ผู้ผลิตและส่งออกข้าวของไทยต้องดำเนินการ ดังนี้
 
                1. ผู้ผลิต ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพและบรรจุข้าว ต้องดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติสำหรับผู้ผลิตข้าวส่งออกไปจีน (เอกสารแนบ 2) และขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตกับกรมวิชาการเกษตร
 
                2. จัดทำมาตรการควบคุมและกำจัดศัตรูพืชกักกัน 8 ชนิดที่กำหนดไว้ในพิธีสารฯ
 
                3. ก่อนส่งออก ต้องรมยาและตรวจสอบข้าวว่ามีคุณสมบัติดังนี้
                    3.1 ปราศจากศัตรูพืชกักกัน 8 ชนิด ในพิธีสารฯ
                    3.2 เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพข้าวของกระทรวงพาณิชย์
                    3.3 เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพข้าวของจีน GB1354-2009 (
เอกสารแนบ 3)
 
                4. แนบใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองการรมยาไปพร้อมกับข้าวที่ส่งออก
 
                5. ติดฉลากบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานฉลากอาหารบรรจุหีบห่อของจีน (เอกสารแนบ 4) และมาตรา 10 ของพิธีสารฯ ซึ่งต้องระบุชื่อ-ที่อยู่ของผู้ส่งออกเป็นภาษาอังกฤษ และมีข้อความภาษาจีน “本产品输往中华人民共和国” ที่เห็นได้ชัดเจน
 
                6. จัดทำแผนและตรวจติดตามด้านความปลอดภัยอาหารตามข้อกำหนดปริมาณสิ่งปนเปื้อน (เอกสารแนบ 5) และสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง (เอกสารแนบ 6)
 
 
 
ที่มา: มกอช.

Japan Food News_ญี่ปุ่นพัฒนาปลาไร้กลิ่นคาวกระตุ้นเศรษฐกิจ

 แม้ว่าปลาจะเป็นอาหารยอดนิยมในประเทศญี่ปุน แต่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่ค่อยพึงพอใจกับกลิ่นคาวของมันมากนัก ด้วยเหตุนี้นักวิจัย บริษัทเอกชน รวมถึงเกษตรกรในประเทศญี่ปุ่น จึงพยายามคิดหาวิธีเพื่อขจัดกลิ่นคาวปลา โดยเริ่มทดลองกับปลาสำลีซึ่งเป็นปลาที่นิยมบริโภคมากที่สุดเป็นลำดับแรก

                ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kindai ร่วมกับบริษัทเอกชน ได้ทำการวิจัยด้วยการลดอัตราส่วนปลาป่น

                ที่ผสมในอาหารปลา จาก 40-60% เหลือ 28% และเปลี่ยนมาใช้ กากถั่วเหลือง ผัก และโปรตีนอื่นๆ ผสมผงชาใส่ในอาหารปลาแทน เพื่อใช้ขจัดกลิ่นคาว เนื่องจากปลาป่นมีกลิ่นคาวรุนแรง ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kochi ขจัดกลิ่นคาวปลา โดยผสมเปลือกส้ม มะนาว และผลไม้อื่นๆ เข้าไปในอาหารปลา สำหรับเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโดยบดผลมะกอก ออริกาโน อบเชย และขิง ผสมในอาหารเลี้ยงปลาแบบเม็ด ซึ่งการผสมผงสมุนไพรดังกล่าว ด้วยจะช่วยเพิ่มรสชาติ ลดกลิ่นคาว และเพิ่มปริมาณวิตามินอี

                 การวิจัยทั้งหมดนี้ นักวิจัยคาดหวังว่าการขจัดกลิ่นคาวปลา จะช่วยดึงดูดให้ทั้งชาวญี่ปุ่น และชาวต่างชาติหันมาบริโภคปลาจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มปริมาณการส่งออกปลาในอนาคต

ที่มา thefishsite.comสรุปโดย มกอช. 

Thailand Food News_ข่าว กฎระเบียบ มาตรฐานอาหารของไทย

รัฐและเอกชนร่วมมือเร่งผลักดันสินค้าไทย
                เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์งานแสดงสินค้า  Green Festival ประจำปี 2559 ซึ่งจัดขึ้น ณ Los Angeles Convention Center ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยงานแสดงสินค้าดังกล่าวเน้นส่งเสริมให้ผู้บริโภคเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สินค้าที่วางจำหน่ายภายในงานมีทั้ง สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าธรรมชาติ สินค้าปราศจากกลูเตน สินค้าที่ไม่มีส่วนผสมหรือการดัดแปลงพันธุกรรม และสินค้ามังสวิรัต
                สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจ ได้แก่ อาหารประเภท Super food ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นพิเศษ เช่น ผงมาคา ผงโกโก้ และขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากกล้วย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกล้วยกวน สำหรับประเทศไทยมีสินค้าหลายชนิดที่ได้รับความสนใจ เช่น กล้วยกวนก้อน โปรตีนแท่งจากธัญพืช น้ำสลัดและส่วนผสมสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากมะพร้าว
                 จากการสังเกตการณ์ พบว่า ผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรผลักดัน ส่งเสริม และรณรงค์ให้มีการผลิตสินค้าดังกล่าวมากขึ้น เช่น การสนับสนุนให้มีตรารับรองว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าธรรมชาติ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและแปลกใหม่ เพื่อตอบรับกระแสการบริโภคที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น
 


ที่มา: ฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส สรุปโดย: มกอช. 

นำร่องเกษตรใหม่ ประเทศไทย 4.0
           ขณะนี้ นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” กำลังเป็นที่กล่าวขานอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน รวมทั้งเน้นภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
               นโยบายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วย โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี ดังตัวอย่างในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งได้มีการพัฒนาการทำเกษตรกรรม 4.0 อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและศักยภาพด้านการผลิต โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เช่น การนำระบบนำทางด้วยดาวเทียม (GNSS) ทำให้ทราบตำแหน่งบนพื้นที่การเกษตร ลดการทำงานทับซ้อนบนจุดเดียวกัน และทำให้ช่วยประหยัดพลังงาน น้ำและสารเคมี นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเซ็นเซอร์มาใช้ตรวจวัดสุขภาพสัตว์ หรือ พฤติกรรมสัตว์ซึ่งจะนำค่าที่ได้มาประมวลผลและเชื่อมต่อกับเครื่องจักรทำให้สามารถรักษาอาการโรคในสัตว์ได้ทันท่วงที รวมไปถึงการปรับปรุงพันธุ์พืช หรือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
             นโยบายการเกษตร 4.0 หากผลักดันและปรับใช้ได้เป็นผลสำเร็จจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้แก่เกษตรอีกด้วย
 

ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ  ประจำสหภาพยุโรป  สรุปโดย: มกอช. 

ไทยตรวจพบเมลามีนในอาหารสัตว์นำเข้าจากเวียดนาม
                   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจพบกรดซัยยานูริก ซึ่งเป็นสารในกลุ่มเมลามีน ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ประเภทเครื่องในปลาหมึกแห้งนำเข้าจากเวียดนาม โดยทำการอายัดและสั่งทำลายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งบริษัทผู้นำเข้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามเพื่อระงับการส่งออกมายังไทย ซึ่งขณะนี้ ได้ขอให้เวียดนามตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว และหากพบว่ามีการใช้สารเมลามีนจริง ไทยจะขึ้นบัญชีดำบริษัทดังกล่าวทันที
                   ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการตรวจสอบสารกลุ่มเมลามีนในอาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์นำเข้ามายังประเทศไทยโดยตลอด อีกทั้ง มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับประเทศที่มีประวัติการตรวจพบการลักลอบผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนสารกลุ่มเมลามีน และได้ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการปนเปื้อนสารกลุ่มเมลามีน เช่น วัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารเสริมโปรตีน นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
                ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้สารกลุ่มเมลามีน เป็นวัตถุต้องห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์
                   อนึ่ง สารกลุ่มเมลามีนเป็นสารเคมีในที่ใช้ในการผลิตพลาสติก กาว ไวท์บอร์ด สีย้อมในหมึก ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซึ่งสารดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายทั้งในคนและในสัตว์ เช่น กรณี สัตว์ได้รับสารชนิดนี้เข้าไปจะส่งผลให้สัตว์ป่วยตายได้
ที่มา : thairath  สรุปโดย: มกอช.

คุมเข้ม!! นำเข้าส้มจากจีนระวังศัตรูพืช
               ประเทศไทยมีการนำเข้าส้มแมนดารินจากจีนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้บริโภคและตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 59 มีการนำเข้าส้มแมนดารินกว่า 13,400 ตัน การนำเข้าส้มจำนวนมากอาจเกินการซุกซ่อน   สอดไส้ผลส้มที่มีกิ่งก้านและใบหลุดลอดเข้ามาภายในประเทศ ซึ่งอาจมีศัตรูพืชกักกันติดมาและแพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับแหล่งปลูกพืชตระกูลส้มของไทยได้

               อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ด่านตรวจพืชทุกแห่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าส้มจากจีนทุกชิปเม้นต์และทุกตู้คอนเทนเนอร์ โดยหากตรวจพบแมลงศัตรูพืช เจ้าหน้าที่จะ      ปฎิเสธการนำเข้าและสั่งตีกลับประเทศต้นทางหรือสั่งทำลายทันที แต่หากตรวจพบเฉพาะใบและกิ่งส้มติดมา เจ้าหน้าที่จะให้ผู้นำเข้าทำการคัดแยกใบและกิ่งออกให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน และเผาทำลายใบส้มทิ้ง

               นอกจากนี้ ยังจัดตั้งไลน์กลุ่มเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารการตรวจปล่อยสินค้าและป้องกันการปลอมแปลงเอกสารอย่างรัดกุม เพื่ออุดช่องโหว่ สกัดกั้นผู้กระทำผิด และทำให้การนำเข้าส้มจากจีนเป็นไปตามระเบียบและ พรบ.กักพืชของไทย


ที่มา : ไทยรัฐ : สรุปโดย มกอช. 

Egypt Food News_อียิปต์ เรียกคืนสตรอเบอร์รี่แช่แข็งก่อให้เกิดไวรัสตับอักเสบ A

The International Company for Agricultural Production & Processing (ICAPP) อียิปต์ได้ประกาศเรียกคืนสินค้าสตรอเบอร์รี่แช่แข็งที่ส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกา เพื่อสนองตอบต่อการตรวจสอบกรณีพบการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) กล่าวว่าการปฎิบัติของ ICAPP นี้เป็นผลมาจากการหารือกับ USFDA เนื่องจากตรวจพบไวรัสตับอักเสบ เอ ในสินค้าสตรอเบอร์รี่แช่แข็งจำนวน 4 ล็อตที่ ICAPP ส่งมาสหรัฐอเมริกา

             โดยในวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) พบการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ มีผู้ป่วย 134 คน จาก 9 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Arkansas, California, Maryland, North Carolina, New York, Oregon, Virginia, Wisconsin and West Virginia ต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 USFDA ได้ประกาศห้ามนำเข้าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่แช่แข็งในระบบ Import Alert ซึ่งในขณะนั้นยังไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์กับการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ที่เชื่อมโยงกับสมูตตี้ของร้าน Tropical Smoothie Café และในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 USFDA ได้เพิ่มเติมข้อมูลว่า  ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดได้ให้ข้อมูลว่าบริโภคสมูทตี้ที่มีส่วนประกอบของสตรอเบอร์รี่ที่ร้าน Tropical Smoothie Café ที่มีพิกัดในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน เมื่อทำการตรวจสอบย้อนกลับพบว่านำเข้าสตรอเบอร์รี่มาจากอียิปต์ และปัจจุบัน Tropical Smoothie Café ได้เลิกใช้สตรอเบอร์รี่จากอียิปต์แล้วทุกสาขา

              จนในวันที่ 30 ได้มีประกาศ  เรียกคืนสินค้าสตรอเบอร์รี่แช่แข็งจากอียิปต์ทั้งที่นำมาจำหน่ายที่ใช้ในร้านอาหารตลอดจนใช้ผลิตอาหารเพื่อการจำหน่าย นอกจากนี้ ICAPP ยังได้ประกาศให้ความช่วยเหลือในการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในด้านสาธารณสุขและให้ความมั่นใจว่าจะเรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ส่งมายังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา 


 
 
ที่มา : http://www.foodsafetynews. : สรุปโดย มกอช.

Canada Food News_ข่าว กฎระเบียบ มาตรฐานอาหารของแคนาดา

แคนาดาปรับปรุงปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในผักผลไม้สดและผลพลอยได้จากสัตว์
                หน่วยงาน Health Canada ออกประกาศปรับปรุงปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในผักผลไม้สดหลายรายการ รวมถึง ผลพลอยได้จากสัตว์ ดังนี้
                 - ปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Clopyralid ในผลพลอยได้จากสัตว์ (โค แพะ ม้า และแกะ) ที่ 0.09 ppm ยกเว้นในไตซึ่งกำหนดไว้ที่ 1.5 ppm นอกจากนี้ ยังปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของสารดังกล่าวในนมเป็น 0.015 ppm จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 0.01 ppm ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประชาพิจารณ์
                - ปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Fluopyram ในเชอร์รี่, องุ่น, สตรอเบอร์รี่, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่แบบพุ่มเตี้ย (ยกเว้น บลูเบอร์รี่ และ Lingonberry), แอปเปิ้ล, เมล็ดฝ้าย, ถั่ว Chickpeas, ถั่ว Lentils, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง และพืชหัว
               - กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Kasugamycin ในเชอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จำนวน 10 ชนิด เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้อยู่แล้วในผลไม้ 35 ชนิด อนึ่ง ปริมาณที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ไม่มีระบุไว้ในมาตรฐาน Codex และมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา
               - กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Cyazofamid ในเชอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จำนวน 5 ชนิด อนึ่ง ปริมาณที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ไม่มีระบุไว้ในมาตรฐาน Codex และมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา
                 - กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Tebuconazole ที่ 0.05 ppm ใน หน่อไม้ฝรั่ง
 
 
ที่มา: compliancecloud.selerant.com สรุปโดย: มกอช.

แคนาดาเดินหน้าผลิตโปรตีนนมลดการนำเข้า
             ภาคอุตสาหกรรมนมในแคนาดา เร่งเพิ่มกำลังการผลิตโปรตีนนมที่ใช้สำหรับการผลิตชีส และลดการนำเข้าลงจากสหรัฐอเมริกา โดยในปีนี้กลุ่มสหกรณ์นมในแคนาดา เช่น Gay Lea Foods Cooperrative ได้เตรียมวางแผนการลงทุนเพื่อผลิตโปรตีนนม ในขณะที่กลุ่มสหกรณ์ Agropur หยุดการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560
       ปัจจัยกระตุ้นสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นผลจากการจัดทำความตกลงเรื่องราคานมที่กลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตและแปรรูปนมในแคนาดาเห็นชอบร่วมกัน ในเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งอนุญาตให้ผู้ผลิตและแปรรูปนมในแคนาดาสามารถซื้อผลิตภัณฑ์นมจากเกษตรกรได้ในราคาที่ต่ำที่สุดของราคาระหว่างประเทศ โดยความตกลงดังกล่าวได้สร้างแรงจูงใจสำหรับภาคอุตสาหกรรมในแคนาดาในการผลิตโปรตีนนมมากขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมนมรายใหญ่ของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และยุโรป ต่างมีความเห็นว่าความตกลงดังกล่าวไม่เป็นธรรมและอาจละเมิดกฎการแข่งขันทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้
              อนึ่ง ความตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่ากลุ่มเกษตรกรจะลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ แต่โครงการชั่วคราวได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว
 
 
 
ที่มา: Reuter.com สรุปโดย: มกอช.

USA Food News_ข่าว กฎระเบียบ มาตรฐานอาหารของอเมริกา 1

FSIS แนะนำการติดฉลากใหม่ในเนื้อสัตว์
                หน่วยงานบริการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร (FSIS)  ภายใต้กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา(USDA) เตรียมออกคู่มือการติดฉลากเพื่ออ้างถึงคุณลักษณะพิเศษในการผลิตปศุสัตว์ที่ระบุว่า ไร้ยาปฏิชีวนะ    ผลิตแบบอินทรีย์ วัวที่เลี้ยงด้วยหญ้า หรือปราศจากสารเร่งฮอร์โมน เป็นต้น
                ทั้งนี้ ด้านผู้ผลิตต้องการให้ FSIS อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมการใช้ฉลาก รวมทั้งผู้เลี้ยงต้องส่งเอกสารยืนยันการควบคุมในขั้นตอนการเลี้ยงที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ โดยคำแนะนำใหม่ ซึ่งออกโดย FSIS จะเปิดให้แสดงความคิดเห็นเป็นเวลา 60 วัน
 
 
ที่มา: food Safety Magazine สรุปโดย: มกอช. 

ผู้ผลิตนมมะกันจี้รัฐเว้นสินค้าชีสจากรายการลดโซเดียม
            สมาคมอาหารนมนานาชาติ (IDFA) และสหภาพผู้ผลิตนมแห่งชาติ (NMPF) ของสหรัฐอเมริกา ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) นำชีสออกจากรายการที่แนะนำให้ปรับลดปริมาณโซเดียมหลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา USFDA ได้ออกร่างคำแนะนำให้บริษัทผลิตอาหารของสหรัฐฯ ปรับลดปริมาณการใช้โซเดียม โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้บริโภคลดการบริโภคโซเดียมจากเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวัน ลดลงเหลือเพียง 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน
               อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตนมมองว่า อุปสรรคที่สำคัญในการลดปริมาณโซเดียม คือการพยายาม  หาวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับขั้นตอนการผลิตแต่ละรูปแบบ โดยปัจจุบัน โซเดียมมีบทบาทสำคัญ ในกระบวนการผลิตชีสและบ่มชีสโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีข้อจำกัดในการ ใช้เกลือที่เหมาะสมต่อการผลิตชีสแต่ละประเภท (ไม่สามารถเติมเกลือได้ในปริมาณที่ไม่จำกัด)

ที่มา: The Beef site สรุปโดย: มกอช.

สหรัฐฯพบไวรัสก่อโรคคล้ายโปลิโอในหมู
                ก่อนหน้านี้ มีรายงานการพบตัวอย่างสุกรบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ที่มีความผิดปกติบริเวณขาหลัง โดยเป็นสุกรอายุ 11 สัปดาห์ ทำให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริการ่วมกันเก็บรวบรวมหลักฐานและวิเคราะห์ผลกระทบของโรคดังกล่าวต่ออุตสาหกรรมมสุกรในประเทศ
                การตรวจสอบตัวอย่างพบว่ามีเชื้อไวรัสกลุ่ม Sapeloviruses ในสุกรในบริเวณประสาทส่วนกลางที่เกิดความเสียหาย แต่สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ที่ต่างจากที่พบได้ทั่วไป โดยขณะนี้นักวิจัยกำลังเร่งพิจารณาของการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อระบบประสาทไขสันหลัง หรือก่อให้เกิดอาการทางประสาทอื่นๆอีกหรือไม่ ทั้งนี้ในเบื้องต้น กลุ่มนักวิจัยประเมินว่าไวรัสดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายในสุกรเลี้ยงร้อยละ 1-2 และยังไม่รายงานการติดต่อสู่คน

ที่มา: thepigsite.com สรุปโดย: มกอช. 
สหรัฐฯ อนุมัติมันฝรั่ง GMO เพิ่ม 3 สายพันธุ์
                กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เปิดไฟเขียวให้กับมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์  PPO_KO จากบริษัท Calyxt และสายพันธุ์ X17 และ Y9 จากบริษัท J.R Simplot ทั้ง 2 บริษัทได้ออกมาชี้แจงถึงการดัดแปลงพันธุกรรมมันฝรั่ง ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยลดการสูญเสีย โดยจะทำให้ลดปริมาณการทิ้งมันฝรั่งที่พบรอยช้ำซึ่งเกิดการถูกกระแทก และการเปลี่ยนสีของมันฝรั่งระหว่างการขนส่ง
                อนึ่ง บริษัท Calyxt นั้นเคยได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงพันธุกรรมมันฝรั่งแล้ว 1 สายพันธุ์ เมื่อปี 2557 ซึ่งในปัจจุบันมันฝรั่งสายพันธุ์ดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการทดลองเพาะปลูก

ที่มา: foodsafetynews.com สรุปโดย: มกอช.

ผู้ประกอบการ US หันมาใช้ข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์เนื่องจากราคาถูก, โปรตีนสูง
            นักวิเคราะห์การตลาดคาดการณ์ว่าจะมี ความต้องการข้าวสาลีเพิ่มซึ่งมีการนำเข้ามาแทนที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูง และคาดว่าข้าวสาลีจะเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารสัตว์ใน 1-2 ปีข้างหน้า  เนื่องจากข้าวสาลีมีราคาถูกกว่าข้าวโพดและมีปริมาณโปรตีนที่สูงกว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เผยว่าความต้องการข้าวสาลีที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อปริมาณข้าวสาลีที่ล้นตลาดในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวสาลีลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนบางรัฐได้ประกาศราคาของข้าวสาลีที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตุว่าผลผลิตข้าวสาลีที่มีปริมาณมากจนเกินอาจไปส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณโปรตีนในข้าวสาลี ผู้ประกอบการจึงต้องเพิ่มปริมาณโปรตีนจากถั่วเหลืองและธัญพืชชนิดอื่นๆ ผสมในอาหารสัตว์ด้วย
  

ที่มา thepigsite.com สรุปโดย มกอช.

US บริโภคอาหารทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                รายงานจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่าการบริโภคอาหารทะเลของชาวอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีค่าเฉลี่ยการบริโภคอาหารทะเลของชาวอเมริกาเพิ่มขึ้น 15.5 ปอนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 0.9 ปอนด์ ทั้งนี้รายงานการประมงของสหรัฐอเมริกา ยังเผยถึงตัวเลขการค้าประมงของสหรัฐอเมริกาว่ามีปริมาณถึง 9.7 พันล้านปอนด์ คิดเป็นมูลค่าถึง 5.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งปลาที่เป็นที่นิยมและมีปริมาณการค้าขายมากที่สุด ยังคงเป็น ปลาอลาสก้าโพล็อค โดยปริมาณที่จับมีมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 4% จากปีที่แล้ว) นอกจากนี้ ยังมีปลา Atlantic menhaden และ Gulf menhaden ซึ่งมีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ( เพิ่มขึ้น 29% ) จึงถือได้ว่าปลาและอาหารทะเลเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่นำเงินเข้าสู่เศรษฐกิจของประเทศหลายพันล้าน และสนับสนุนการจ้างงานกว่า 1.8 ล้านคน
 

ที่มา: thefishsite.com สรุปโดย: มกอช.

















EU Food News_EU แก้ไขค่าอนุโลมสูงสุดของสาร Dimethyl ether ที่ใช้ในการผลิตเจลาตินและคอลลาเจน

เมื่อวันที่  ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ Commission Directive (EU) 2016/1855 of 19 October 2016 amending Directive 2009/32/EC of the European Parliament and of the Council on the approximation of the laws of the Member States on extraction solvents used in the production of foodstuffs and food ingredients ว่าด้วยการแก้ไขค่าอนุโลม สูงสุดของสาร Dimethyl ether ที่ใช้ในการผลิตเจลาตินและคอลลาเจน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
               ๑. กฎระเบียบใหม่นี้เป็นการแก้ไขปรับปรุง Directive 2009/32/EC ดังนี้  
                      ๑.๑   ด้วย เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ บริษัท Akzo Nobel Industrial Chemicals BV ยื่นคำร้องขอปรับลดค่าอนุโลมสูงสุด (Maximum Residual Limit : MRL) ของสาร Dimethyl ether เพื่อใช้เป็นตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด (extraction solvents) ในผลิตภัณฑ์โปรตีนสัตว์สกัดไขมัน (defatted animal protein products) โดยเฉพาะคอลลาเจนและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากคอลลาเจน จากเดิม มีค่า MRL ที่ระดับ ๐.๐๐๙ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้เป็น ๓ มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมถึงการขอใช้ Dimethyl ether เพื่อช่วยสกัดผลิตภัณฑ์โปรตีนที่ได้จากเจลาติน โดยเสนอค่า MRL ที่ระดับ ๐.๐๐๙ มิลลิกรัม/กิโลกรัม
                      ๑.๒   ในการนี้ หน่วยงานความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) พิจารณาและประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า ค่า MRL ที่ทางบริษัทฯ เสนอไม่ส่งผล   อันตรายต่อผู้บริโภค จึงเห็นชอบตามค่า MRL ใหม่ที่เสนอ
               ๒. สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ดังนี้
               ๓. กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันภายหลังจากประกาศใน EU Official Journal (ประกาศในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙) 
    โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

EU Food News_EU ไม่อนุญาตให้ใช้ tricyclazole เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์อารักขาพืช

เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2016/1826 of 14 October 2016 concerning the non-approval of the active substance tricyclazole, in accordance with Regulation (EC) No 1107/2009 of the European Parliament and of the Council concerning the placing of plant protection products on the market ใน EU Official Journal L 279/88 ว่าด้วยการไม่อนุญาตสาร tricyclazole ให้ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ (Active Substances) ในผลิตภัณฑ์อารักขาพืช (Plant Protection Products : PPPs) สรุปดังนี้
               ๑. เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕  อิตาลีได้รับคำร้องจากบริษัท Dow AgroSciences เพื่อขอขึ้นทะเบียน tricyclazole เป็นสารตั้งต้น (Basic Substance) ในผลิตภัณฑ์อารักขาพืช  แต่จากข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทส่งมอบให้ EU พบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการเกิดความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมและการก่อให้ เกิดมะเร็งของ tricyclazole  ยังคงเพียงพอที่จะกำหนดค่าอ้างอิง ADI, ARfD และ AOEL เพื่อใช้ในการ ประเมินความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับความปลอดภัยของคนได้ อาทิ ความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการ คนงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง ผู้อยู่อาศัย และผู้บริโภค รวมถึงสินค้าที่ใช้ในการทดลองของการให้ความเป็นพิษก็ไม่ครบถ้วนตามเทคนิคเฉพาะสำหรับสาร tricyclazole และสารเจือปนอื่นๆ ที่กำหนดไว้ จึงส่งผลให้การประเมิน ความเสี่ยงในบางประเด็นไม่สามารถลุล่วงได้ รวมถึงปฏิกริยาความเสี่ยงของสาร tricyclazole ในการเป็นตัวขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ (endocrine disruptor) และการปนเปื้อนของน้ำบาดาลจากเมตาบอไลท์ ด้วย  ดังนั้น  EU จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ใช้ tricyclazole เป็นสารตั้งต้นตามที่บริษัทร้องขอ
              ๒. กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลปรับใช้ ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙)
              ๓. สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังนี้
                                                          โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

EU Food News_EU ปรับแก้ไขข้อกำหนดพืชที่จะขึ้นทะเบียนตาม CPVO และ UPOV

เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Directive (EU) 2016/1914 of 31 October 2016 amending Directives 2003/90/EC and 2003/91/EC setting out implementing measures for the purposes of Article 7 of Council Directive 2002/53/EC and Article 7 of Council Directive 2002/55/EC respectively, as regards the characteristics to be covered as a minimum by the examination and the minimum conditions for examining certain varieties of agricultural plant species and vegetable species  ซึ่งเป็นการปรับ แก้ไขข้อกำหนดพืชเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงานพันธุ์พืชของสหภาพยุโรป (Communitry Plant Variety : CPVO) และสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Union for Protection of new Varieties of Plants (UPOV) เพื่อให้ประเทศสมาชิกอิงใช้ในกรณีที่จะขึ้นทะเบียนพืชในแคตตาล็อกแห่งชาติของตน (national catalogues) ซึ่งครอบคลุมคุณลักษณะขั้นต่ำในการพิจารณาพืชนั้นๆ รวมถึงเงื่อนไขขั้นต่ำในการตรวจสอบพันธุ์พืช ตามบัญชีรายชื่อพืชที่ปรากฎในภาคผนวก สำหรับรายละเอียดข้อกำหนดของพืชแต่ละชนิดสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ของ CPVO และ UPOV ดังนี้ www.cpvo.europa.eu  และ www.upov.int
                 ทั้งนี้ กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลปรับใช้ ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙) โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเวปไซด์ดังต่อไปนี้
                                                           โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

Food Law Update_Thai : THDOF เอกสารรายชื่อบริษัท/Farm ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง



ที่มา กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง