วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

EU Food News_วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรไทยใน EU และโอกาสในอนาคต

วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรไทยในสหภาพยุโรปและโอกาสทางการตลาดของสินค้าเกษตรไทยในสหภาพยุโรป
๑.    สถิติการส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารไทยไปตลาด EU  ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. ๕๘ ไทยส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารไป EU รวมทั้งหมด ๓,๑๖๘.๓ ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง ๔๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐหรือ -๑๓.๔% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน หน้า) แบ่งเป็น สินค้าเกษตรกรรม (๕๖%) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (๔๔%) โดย EU เป็นตลาด ส่งออกที่สำคัญอันดับ ๔ ของไทย (รองจากอาเซียน ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา)
       -     สินค้าเกษตกรรมที่สำคัญ (ไม่รวมยาพารา) ได้แก่ ไก่แปรรูป ,ข้าว, เนื้อและส่วนต่างๆของ สัตว์ที่บริโภคได้, ปลาหมึกสด แช่เย็น แช่แข็ง โดยมูลค่าการส่งออกลดลงเกือบทุกรายการเทียบกับปีก่อน หน้า (ยกเว้น เนื้อและส่วนต่างๆของสัตว์ที่บริโภคได้)
      -      สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป, ผลไม้กระป๋อง/ แปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ, สิ่งปรุงรสอาหาร, เนื้อสัตว์และ ของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ เฉพาะผลไม้กระป๋องและอาหารสัตว์เลี้ยงเท่านั้นที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่เหลืออื่นๆมีมูลค่าการส่งออกลดลงเทียบกับปีก่อนหน้า
๒.    สินค้าที่ไทยขายอยู่แล้วและควรหาทางขยายตลาดเพิ่ม[1]
      ๒.๑  ไก่แปรรูป เป็นสินค้าที่สร้างรายได้มากที่สุดทุกปี ในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปี ๒๕๕๘  EU นำเข้าไก่แปรรูปจากไทยราว ๑๕๐,๐๐๐ ตันหรือ ๕๖% เทียบกับปริมาณการนำเข้าไก่แปรรูปจากประเทศที่ สามทั้งหมด โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าไก่แปรรูปที่สำคัญที่สุด (รองลงมา คือ การนำเข้าจากบราซิล​ ๑๐๔,๐๐๐ ตันหรือ ๓๙% เทียบกับปริมาณการนำเข้าไก่แปรรูปจากประเทศที่สามทั้งหมด)
             แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่แปรรูปที่มีศักยภาพสูงในตลาดโลก แต่การส่งออกไป EU ถูกจำกัดด้วยโควตา โดย EU จัดสรรโควตาไก่แปรรูปให้ไทย  ๑๖๐,๐๓๓ ตัน/ปี ซึ่งเสียภาษีนำเข้าที่อัตรา ๘% ส่วนปริมาณที่เกินกว่านั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง ๑,๐๒๔ ยูโร/ตัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด แต่ในอนาคตหากไทยสามารถเจรจาต่อรองให้ทาง EU เพิ่มโควตาให้กับไทยหรือประสบความสำเร็จในการ เจรจา FTA กับ EU ก็มีโอกาสที่ไทยจะขยายการส่งออกไก่แปรรูปไป EU ได้เพิ่มขึ้นอีก
     ๒.๒  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป  สินค้าที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ ทูน่ากระป๋อง ซึ่งเป็น อาหารทะเลที่ชาว EU นิยมบริโภคมากที่สุด โดย EU ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศที่สามทั้งในรูปแบบ วัตถุดิบทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องสำเร็จรูป ความต้องการบริโภคทูน่ากระป๋องใน EU มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคมองว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ไทยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ เอกวาดอร์ มอริเชียส ซีเชลล์และโกตติวัวร์  ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้มีความได้เปรียบในการส่งไปจำหน่ายใน EU มากกว่าไทย
            ในปีที่ผ่านมาแม้ EU นำเข้าทูน่ากระป๋องจากไทยลดลงเกือบ ๓๐% แต่ก็ยังเป็นสินค้าส่งออก หลักของไทย ในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปี ๒๕๕๘ EU นำเข้าทูน่ากระป๋องจากไทย ๓๘,๗๐๐ ตันหรือ เป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับ ๔ (ลดลงจาก ๕๒,๗๐๐ ตันหรืออันดับที่ ๒​ ในปีก่อนหน้า)  โดยไทยสูญเสีย ส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศมอริเชียสที่ได้รับการยกเว้นภาษีและฟิลิปปินส์ที่ได้รับสิทธิ GSP+ ทำให้ทูน่า กระป๋องจากฟิลิปปินส์ถูกเก็บภาษี 0%  สำหรับประเทศไทยสูญเสียสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๕๘   ทำให้ ทูน่ากระป๋องจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง ๒๔% ยิ่งไปกว่านั้น ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงไทย ถูกโจมตีเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาสและ IUU fishing ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หากไทยยังไม่รีบ แก้ไข EU ก็อาจหันไปนำเข้าทูน่ากระป๋องจากคู่แข่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหรือ EU อาจสั่งระงับการนำเข้าจากไทยได้
     ๒.๓  ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสับปะรดกระป๋องที่สำคัญอันดับ ๑ ของ EU ส่วนใหญ่นำเข้าโดยประเทศเยอรมนี แม้ว่าปี ๒๕๕๘ ไทยจะสูญเสีย GSP ทำให้สับปะรดกระป๋องที่นำเข้า จากไทยต้องเสียภาษีสูงถึง ๒๕.๖% แต่ไทยก็ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปี ๒๕๕๘ EU นำเข้าสับปะรดกระป๋องจากไทย ๑๐๘,๐๐๐ ตัน (ทิ้งห่างคู่แข่งอื่นๆมาก ได้แก่ EU นำเข้าจาก อินโดนีเซีย ๕๒,๐๐๐ ตัน เคนยา ๔๒,๐๐๐ ตัน และฟิลิปปินส์ ๒๒,๐๐๐ ตัน) เนื่องจากอุตสาหกรรมสับปะรด กระป๋องของไทยมีโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีกระบวนการผลิตและแปรรูปที่ได้ มาตรฐาน รวมทั้งแรงงานมีทักษะและความชำนาญ ผู้นำเข้าในต่างประเทศจึงยอมรับในคุณภาพ  สิ่งที่ไทยต้องระวัง คือ การปลูกสับปะรดของไทยมีผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ทำให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบ ไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมสับปะรดแปรรูปไทยในอนาคต 
     ๒.๔  เนื้อและส่วนต่างๆของสัตว์ที่บริโภคได้  เนื้อสัตว์ที่ไทยส่งออกไป EU มาก คือ เนื้อไก่ ภายหลังจาก EU เริ่มเปิดตลาดนำเข้าเนื้อไก่จากไทยอีกครั้งนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมา ส่งผลให้ไทยค่อยๆ ขยายส่วนแบ่งตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดย EU นำเข้าไก่หมักเกลือจากไทยเพิ่มขึ้นจาก​​ ๒๑,๕๐๐ ตันในปี ๒๕๕๕ เป็นมากกว่า ๗๒,๖๐๐ ตันในปี ๒๕๕๗ สำหรับในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปี ๒๕๕๘ EU นำเข้าไก่หมัก เกลือจากไทยไปแล้วราว ๗๐,๘๐๐ ตัน แต่บราซิลยังคงครองแชมป์เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ ๑  โดย EU นำเข้า ไก่หมักเกลือจากบราซิล ๑๔๕,๐๐๐ ตันในช่วง ๑๐ เดือนแรกของปี ๒๕๕๘ หรือมากกว่าไทยถึง ๒ เท่า
     ๒.๕  อาหารสัตว์เลี้ยง  แม้ว่าอาหารสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว นก ปลา ฯลฯ) จะไม่ใช่สินค้าส่งออก หลักของไทย แต่ในปีที่ผ่านมาก็เป็นสินค้าที่สร้างรายได้จากการส่งออกไปตลาด EU มากเป็นอันดับ ๖ และ มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี  ในอนาคตตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในยุโรปมี แนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เพราะผู้เลี้ยงสัตว์คำนึงการให้อาหารที่มีประโยชน์ เหมาะกับสุขภาพสัตว์และจำนวน ประชากรสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กในยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น โดยอาหารแมวเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  ในฐานะที่ไทย เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญของโลก (อันดับ ๗)  ไทยจึงสมควรหาช่องทางขยายการส่งออก ไปยังตลาด EU เพิ่มขึ้น​ โดยตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปน
๓.   สินค้าที่ไทยควรดำเนินการเจรจาเปิดตลาดหรือขยายตลาดในสหภาพยุโรป
       ๓.๑  ผักและผลไม้ : จากกระแสคนรักสุขภาพ ความนิยมบริโภคหรือทำอาหารเอเชียที่บ้าน และการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ทำให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกผักและผลไม้หลายอย่าง ไป EU  (เช่น มะพร้าว สับปะรด มะม่วง อะโวกาโด ฝรั่ง แคนตาลูป แตงโม) หรือส่วนประกอบในอาหารไทย  (เช่น ตะไคร้ ผักชี ขมิ้น ข่า กะเพรา โหระพา ฯลฯ) ผักนอกฤดูกาล (ผักกาดหอม พริกหวาน มะเขือเทศ ข้าวโพด หน่อไม้ฝรั่ง หัวผักกาด เบบี้แครอท กะหล่ำปลี ฯลฯ) โดยผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับความสะอาด ความปลอดภัย ปราศจากโรคพืชและสารปราบศัตรูพืชต้องห้าม
               ผู้บริโภค EU ยังเป็นกลุ่มที่รักความสะดวกสบาย มีกำลังซื้อสูงและพร้อมทดลองรสชาติแปลก ใหม่จากต่างประเทศมากขึ้น  เพราะฉะนั้น ผักและผลไม้ที่มุ่งจำหน่ายในตลาด  EU จึงสมควรอยู่ในรูปแบบ ล้างหรือปลอกเรียบร้อย หั่นให้อยู่ในขนาดพร้อมรับประทาน อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด เก็บรักษารสชาติและ คุณค่าของอาหารไว้ได้นาน รวมทั้งมีเรื่องราวที่มาซึ่งจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าแก่ผู้บริโภค
              ผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีความปลอดภัย ปราศจากสารเคมีแล ะดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคใน EU หันมาเลือกซื้อผักและผลไม้อินทรีย์มากขึ้น โดยตลาดหลัก ได้แก่ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ในขณะที่ผู้บริโภคในสวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์กและสวีเดน มีสัดส่วนการเลือกซื้อผักและ ผลไม้อินทรีย์สูง ผลไม้อินทรีย์ไทยที่มีโอกาสขยายตลาดได้ใน EU เช่น มะละกอ เสาวรส สับปะรด แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ส้ม ส่วนผักอินทรีย์ เช่น พริกหยวก มะเขือเทศเชอร์รี่ ละมุดฝรั่ง ขมิ้นและวนิลา
      ๓.๒  เครื่องเทศและสมุนไพร : ปี ๒๕๕๖ EU นำเข้าเครื่องเทศและสมุนไพรรวม ๕๒๐,๐๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๑,๘๐๐ ล้านยูโร และมีปริมาณการนำเข้าเติบโตเฉลี่ยร้อยละ ๔ ต่อปีในช่วงระหว่างปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๖  EU พึ่งพาการนำเข้าเครื่องเทศและสมุนไพรจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก แหล่งนำเข้า ที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนามและอินโดนีเซีย
              ประชากร EU มีแนวโน้มใช้เครื่องเทศและสมุนไพรในการประกอบอาหารเพิ่มขึ้น เพราะกระแส คนรักสุขภาพและใช้สำหรับปรุงอาหารต่างชาติ (ไทย อินเดีย แม็กซิกัน) แม้ในช่วงที่ EU เผชิญภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย แต่อุปสงค์ของเครื่องเทศและสมุนไพรก็ไม่ลดลง เพราะผู้บริโภคมองว่าใช้น้อยจึงไม่มีผลกระทบต่อการ ตัดสินใจซื้อ โอกาสขยายการส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรของไทย ได้แก่ พริกไทย ขิง ลูกจันทร์เทศ พริก อบเชย ลูกกระวาน วนิลา กานพลู เป็นต้น โดยผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยจากสารตกค้าง จำพวกสารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxins) สารปราบศัตรูพืชและจุลินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งควรบรรจุอยู่ในหีบห่อ ใหม่ สะอาด มีความทนทาน ปราศจากความชื้นและใช้พลาสติกที่ป้องกันการทำลายจากแมลง เชื้อราหรือกลิ่น ไม่พึงประสงค์ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ ไทยอาจส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิตทุกขั้นตอน
      ๓.๓  ไก่ บราซิลและไทยเป็นแหล่งนำเข้าไก่ที่สำคัญที่สุดของ EU แม้ว่าการผลิตไก่ใน EU มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการซื้อก็ขยายตัวเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน ยุโรปที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อเนื้อไก่แทนเนื้อหมูและเนื้อวัว เพราะเป็นโปรตีนจากสัตว์ที่ราคาถูกกว่า มี ไขมันต่ำและนำมาปรุงอาหารได้ง่าย โดยการจำหน่ายชิ้นส่วนไก่ที่มีราคาถูก (ขาและปีก) มีแนวโน้มเติบโต รวดเร็วกว่าเนื้ออกไก่หรือไก่ทั้งตัวที่มีราคาสูงกว่า ในอนาคตไทยมีโอกาสขยายการส่งออกไก่มายังตลาด EU เพิ่มขึ้น โดยต้องให้ความสำคัญกับความสด สะอาด ปลอดภัยจากโรค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การนำเสนออาหารอย่างสวยงามและมีราคาสมเหตุสมผล นอกจากนั้น ผู้ส่งออกไทยควรหาทางสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ให้สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้สะดวกพร้อมรับประทาน และพัฒนารสชาติ ของสินค้าให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
๔.   สินค้าเกษตร-อาหารไทยที่มีโอกาสเปิดตลาดใหม่ๆใน EU จะต้องคำนึงถึง
       -   ประโยชน์ต่อสุขภาพ รสชาติ รู้จักนำนวัตกรรม (innovation) มาใช้เพื่อพัฒนาอาหารให้ สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผลไม้ที่ไร้เมล็ด ปลอก เปลือกง่าย เก็บได้นาน หรือมีขนาด เหมาะแก่การบริโภคคนเดียว (มะละกอจิ๋ว แตงโมจิ๋ว) ผลไม้ที่ผ่านกระบวนการทำให้สุกพร้อมทาน ฯลฯ ซึ่ง นอกจากง่ายต่อการบริโภคและเหมาะกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณ ขยะอาหารที่ถูกทิ้งลง
       -   ความปลอดภัยของอาหารจากสารตกค้างต่างๆ (โดยเฉพาะสารปราบศัตรูพืช) เชื้อจุลินทรีย์ และตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ EU ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
       -   การผลิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงความยั่งยืน มีตรารับรองคุณภาพหรือ เชื่อมโยงคุณค่าทางด้านจริยธรรม อาทิ การค้าที่เป็นธรรม     (fair trade) รับรองการปฏิบัติต่อแรงงานและ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี สินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจก เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยควรจับตาดูตลาดยุโรปตะวันออกที่กำลังเติบโต ถึงแม้ว่าปัจจุบันความต้องการ ซื้ออาหารแปลกใหม่จากต่างประเทศของทางฝั่งยุโรปตะวันออกยังคงจำกัด แต่ก็เป็นตลาดที่มีโอกาสขยายตัว ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยผู้บริโภคฝั่งยุโรปตะวันออกนั้นให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก ไทยควรหาทางเปิด ตลาดโดยส่งสินค้าผ่านมาทางผู้นำเข้าในยุโรปตะวันตกที่กำลังเข้าไปบุกเบิกตลาดในยุโรปกลางและตะวันออก



[1] ใช้ตัวเลขสถิติจาก EUROSTAT

โดย  สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น