วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

EU Food News_EU ระงับการใช้สารปรุงแต่งกลิ่นบางรายการเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศกฎระเบียบ Commission Regulation (EU) 2017/378 of 3 March 2017 amending Annex I to Regulation (EC) No 1334/2008 of the European Parliament and of the Council as regards certain flavouring substances ใน EU Official Journal L 58/14 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
                  ๑. กฎระเบียบใหม่นี้เป็นการแก้ไขกฎระเบียบเดิม (Annex I ของ Regulation (EC) No 1334/2008) ที่กำหนดบัญชีรายชื่อวัตถุเจือปนอาหาร  (Union list) ที่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร การแก้ไขกฎระเบียบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระงับการใช้สารซึ่งเคยอนุญาตให้ใช้เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นได้ (flavouring substance) ที่มีส่วนผสมของ สาร hexa-2(trans),4(trans)-dienal (FL No 05.057) และ deca-2(trans),4(trans)-dienal (FL No 05.140)  สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ได้เคยประเมินว่า สารทั้ง ๒ รายการเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรม และต่อมาในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙ กลุ่มผู้ประกอบการได้นำส่งผลวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ EFSA อยู่ในระหว่างประเมินผลความเสี่ยงอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้ จึงเห็นควรระงับไม่ให้ใช้สารปรุงแต่งกลิ่นกลุ่ม FGE ที่มีส่วนผสมของสารทั้ง ๒ รายการ
                 ๒. สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ต่อไปนี้
                 ๓. กฎระเบียบดังกล่าว จะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐)
                 ๔. อย่างไรก็ดี EU อนุโลมช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านให้สินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของสารปรุงแต่งกลิ่นที่กล่าวถึงข้างต้น ตามรายชื่อสารที่ปรากฎในภาคผนวก ที่มีการวางจำหน่ายก่อนที่กฎระเบียบฉบับจะมีผลบังคับใช้ (มีผลบังคับใช้วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐)  ให้สามารถวางจำหน่ายได้ต่อไป จนถึงวันที่สินค้าอยู่ในสภาพที่ควรบริโภคได้ต่ำสุด (until their date of minimum durability) หรือเมื่อถึงวันที่ควรบริโภคก่อนที่สินค้าจะหมดอายุ (use-by-date)
                     สำหรับสินค้าอาหารที่นำเข้าจากประเทศที่สามที่มีส่วนผสมของสารปรุงแต่งกลิ่นกล่าวถึงข้างต้น ตามรายชื่อสารที่ปรากฎในภาคผนวก อนุโลมช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน หากผู้นำเข้าสามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า สินค้าดังกล่าวถูกส่งและอยู่ในระหว่างการเดินทางไปจำหน่ายยัง EU ก่อนที่กฎระเบียบนี้จะมีผลปรับใช้ (ก่อนวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐) ก็สามารถวางจำหน่ายได้ต่อไป จนถึงวันที่สินค้าอยู่ในสภาพที่ควรบริโภคได้ต่ำสุด (until their date of minimum durability) หรือเมื่อถึงวันที่ควรบริโภคก่อนที่สินค้าจะหมดอายุ (use-by-date)
             โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

Food Law Update_Japan:ญี่ปุ่นปรับปรุงมาตรฐานสารตกค้างครั้งที่ 198

ญี่ปุ่นปรับปรุงมาตรฐานสารเคมีทางการเกษตรตกค้างตามพระราชบัญญัติสุขอนามัยอาหารญี่ปุ่น ครั้งที่ 198 จำนวน 5 รายการ โดยกลุ่มที่อนุญาตให้ใช้ในญี่ปุ่นได้แก่ Chlorpropham (สารควบคุมการเจริญเติบโตพืช), Dazomet (สารรมดิน), Metam (สารรมดิน), Fluopyram (สารกำจัดเชื้อรา) และ Mandestrobin (สารกำจัดเชื้อรา)  และสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ได้แก่ Picarbutrazox (สารกำจัดเชื้อรา)  โดยรายละเอียดค่า MRL ของผลผลิตแต่ละประเภทปรากฎตามเอกสารแนบ กรณีที่ตารางในเอกสารแนบมิได้ระบุค่า MRL Draft ให้ใช้มาตรฐาน ณ ระดับ 0.01ppm
 
 
ที่มา: - สรุปโดย: มกอช. 

Taiwan Food News_ไต้หวันเข้มนำเข้าน้ำปลา - เครื่องปรุงรสจากไทย(แนะนำให้อ่านสำหรับคนส่งออกใต้หวัน)

  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้รับแจ้งเตือนจากกรมอาหารและยาไต้หวันว่าสินค้าน้ำปลา ซอสปรุงรส น้ำมันหอย น้ำพริก และน้ำจิ้มที่ส่งออกจากไทยถูกตรวจพบสาร Benzoic acid, Propionic Acid และ Saccharin (ขัณฑสกร) ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 13 ครั้ง ในช่วงปี 2559 โดยตามกฎระเบียบของไต้หวันอนุญาตให้มีสาร Benzoic acid ไม่เกิน 1.0 g/kg และไม่อนุญาตให้ใช้ สาร Propionic Acid และ Saccharin ในสินค้าข้างต้น
                ที่ผ่านมาไต้หวันได้แจ้งเตือนปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร Saccharinในน้ำปลา จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยปฏิบัติตามกฎระเบียบของไต้หวันอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นไต้หวันอาจเพิ่มระดับการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นหรือระงับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยได้ 
                      ผู้ประกอบการสามารถศึกษาระเบียบปริมาณสารตกค้างที่ยอมรับได้ (Maximum Limit/Maximum Residue Limit) ของไต้หวันได้ตามเว็บไซต์ดังนี้
 
รายการวัตถุเจือปนอาหารhttps://consumer.fda.gov.tw/Law/FoodAdditivesList.aspx?nodeID=521
 
รายการสารกำจัดศัตรูพืชhttps://consumer.fda.gov.tw/Law/PesticideList.aspx?nodeID=520
 

ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 

CANADA Food News_แคนาดาอนุญาตฉายรังสีเนื้อบด ชี้ช่วยลดปนเปื้อนเชื้อ

                 แคนาดาอนุญาตการฉายรังสีในเนื้อบดทั้งแบบสดและแช่แข็งเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในอาหาร โดยอาหารที่ผ่านการฉายรังสีจะต้องแสดงฉลากให้ชัดเจนทั้งในรูปแบบตัวอักษรและสัญลักษณ์ radura และหากไม่ใช่สินค้าบรรจุเสร็จต้องแสดงข้อมูลไว้ ณ จุดขาย
                  เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2017 หน่วยงาน Health Canada ได้ประกาศระเบียบอนุญาตการฉายรังสีเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของเนื้อบดโดยไม่มีข้อบังคับชนิดรังสี ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถเลือกใช้ได้ทั้งรังสีแกมมา, ลำอิเล็คตรอน หรือรังสีเอ็กซ์
                การฉายรังสีสามารถช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น E. coli, Salmonella และ Campylobacter ในอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการเสียก่อนหมดอายุ ช่วยยืดอายุการเก็บโดยไม่เปลี่ยนแปลงคุณค่า รสชาติ เนื้อสัมผัส และรูปลักษณ์ของอาหาร โดยปัจจุบันกว่า 60 ประเทศอนุญาตให้ใช้รังสีทำลายเชื้อก่อโรคและ/หรือสัตว์รบกวน ส่วนสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในเนื้อบดตั้งแต่ปี 2542
                  ทั้งนี้ก่อนการอนุญาตการฉายรังสีในเนื้อบด แคนาดายังอนุญาตให้ใช้การฉายรังสีในมันฝรั่ง หัวหอม ข้าวสาลี แป้ง เครื่องเทศ และ วัตถุดิบปรุงแต่งอาหารด้วย
 
 
ที่มา: foodsafetynews สรุปโดย: มกอช

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

USA Food News_มะกัน วิจัยพบCopper Sulfate กำจัดเชื้อราในไข่ปลา

นักวิจัยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เผยคอปเปอร์ซัลเฟต (copper sulfate) สามารถกำจัดเชื้อราบนไข่ปลา และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าสารเคมีที่อนุญาตในปัจจุบัน

             นักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านการเกษตรสหรัฐอเมริกา (ARS) จำนวน 2 คณะ ได้ดำเนินการวิจัยประสิทธิภาพของสารคอปเปอร์ซัลเฟตในการกำจัดเชื้อราในไข่ปลา โดยผลการการศึกษาการใช้คอปเปอร์ซัลเฟตในไข่ปลากระพงลูกผสม (Sunshine bass) พบว่าทำให้อัตราการรอดของลูกปลาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 50 ในขณะที่การทดสอบประสิทธิภาพของคอปเปอร์ซัลเฟตเทียบกับสารเคมี 2 ชนิดที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) อนุญาตใช้ในปัจจุบัน ได้แก่  ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide ) และฟอร์มาลีน (Formalin) พบว่าการใช้คอปเปอร์ซัลเฟตในการป้องกันเชื้อราในไข่ปลากลุ่ม catfish มีต้นทุนต่ำกว่ามาก คือ 2 เซนต์/ตัวอย่าง ในขณะที่ 2 สารดังกล่าวอยู่ที่ 89 และ 73 เซนต์/ตัวอย่างตามลำดับ ในขณะที่ให้ผลดีใกล้เคียงกัน

             จากงานวิจัยเหล่านี้ นักวิจัย ARS  พบว่าการใช้คอปเปอร์ซัลเฟตมีประสิทธิในการควบคุมเชื้อราบนไข่ปลา และเป็นสารละลายที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุด องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) กำลังพิจารณาการอนุญาตใช้คอปเปอร์ซัลเฟตเพื่อกำจัดเชื้อราบนไข่ปลากลุ่ม catfish และพยาธิในเหงือกและผิวหนังปลาได้ในอนาคตอันใกล้
 
 
 
ที่มา : thefishsite.com
สรุปโดย : มกอช. 

Thai Food News_กรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้มการใช้โคลิสติน หากฝ่าฝืนโดนลงโทษ

กรมปศุสัตว์ออกคำสั่งสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรให้ควบคุมการใช้ยา Colistin (โคลิสติน) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาแพร่ระบาดในมนุษย์และสัตว์ โดยให้ดำเนินการดังนี้
                 1. ห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินเพื่อป้องกันโรค
                 2. หากสัตว์มีอาการป่วยให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มใช้หลักวิชาการสัตวแพทย์ในการรักษา ส่วนยา
โคลิสตินจะใช้ได้เมื่อไม่มียาปฏิชีวนะชนิดไหนใช้ได้ผลเท่านั้น
                 3. สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องรายงานการใช้ยาโคลิสตินแก่สำนักงานปศุสัตว์เมื่อใช้ยาดังกล่าว
                 4. สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จต้องไม่โคลิสตินผสมอยู่
          5. กรมปศุสัตว์จะส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจฟาร์ม หากพบการใช้โคลิสตินที่นอกเหนือจากข้อสองจะพิจารณาสถานะสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม
            เมื่อปี 2558 จีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากยีน MCR-1 ที่สามารถส่งสารพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาสู่คน และจากคนไปสัตว์ รวมถึงสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ในช่วงปี 2553-2558 มีรายงานการพบยีน MCR-1 ในมนุษย์ หมู และไก่ ใน 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้  ข้อมูลจากทีมวิจัยสัวตแพทย์ จุฬาฯ ที่นำตัวอย่างเชื้อจากฟาร์มหมูในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี และชลบุรี จำนวน 17 ฟาร์ม ที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2547-2557 มาวิเคราะห์พบเชื้อดื้อยาโคลิสตินร้อยละ 40-100 และพบยีนดื้อยา MCR-1 จำนวนร้อยละ 20-66 และยืนยันการพบยีนกลายพันธุ์ชนิดนี้ในคนไทยแล้ว 3 คน
 
ที่มา: allaboutfeed.net สรุปโดย: มกอช.

EU Food News_EU ออกข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัลในอาหารและภาชนะบรรจุ

 เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ตีพิมพ์ประกาศ Commission Recommendation (EU) 2017/84 of 16 January 2017 on the monitoring of mineral oil hydrocarbons in food and in materials and articles intended to come into contact with food ใน EU Official Journal L 12/95  ซึ่งเป็นข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล  (mineral oil hydrocarbons) ในอาหารและในวัสดุและภาชนะที่สัมผัสกับอาหาร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
             ๑. ข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล  (Mineral Oil Hydrocarbons : MOH)  ในอาหาร รวมถึงในวัสดุและภาชนะบรรจุอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป กำหนดให้ประเทศสมาชิก ผู้ประกอบการภาคเอกชนใน EU  ต้องให้ความร่วมมือในการสุ่มตรวจสินค้า อาหารเพื่อหาการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีที่มาจากน้ำมันดิบ และผลิตได้ทางเคมีจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และมวลชีวภาพ ไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัลสามารถพบได้ในอาหารทั่วไปจากการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อม จากน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวและผลิตสินค้าอาหาร จากเทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิต วัตถุเจือปนอาหาร และวัสดุและภาชนะบรรจุอาหาร   แม้ว่าสินค้าไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัลที่ใช้กับอาหารจะได้ผ่านกระบวนการปรับลดค่าของ Minaral Oil Aromatic Hydrocarbons (MOAH) ให้ต่ำที่สุดแล้วก็ตาม
                 ๒.ในปี ๒๕๕๕ EFSA มีผลสรุปว่า กลุ่มสาร MOH ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ โดย MOAH อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่ MOSH (Mineral Oil Saturated Hydrocarbons) สามารถสะสมในเนื้อ เยื่อมนุษย์ และทำลายตับ    นอกจากนี้ MOAH  บางตัวเป็นสารก่อการกลายพันธุ์และ สารก่อมะเร็ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสาร MOH เพื่อให้มีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของ MOSH และ MOAH ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในอาหาร อย่างไรก็ดี EU คาดว่า กระดาษและกล่องที่ใช้บรรจุอาหาร (paper and board packaging)  อาจเป็นที่มาของความเสี่ยงนั้นๆ ด้วย ดังนั้น จึงกำหนดให้เฝ้าระวังอาหารชนิดกึ่งสำเร็จรูป (pre-packaged food) วัสดุที่ใช้บรรจุอาหาร (packaging material) และวัสดุที่ใช้กั้น (functional barriers) รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการจัดเก็บและแปรรูปอาหาร ซึ่งตัวแปรบางอย่าง สามารถก่อให้เกิดการโอนถ่ายของสาร MOH ที่มีอยู่ในภาชนะไปสู่อาหารได้ง่ายขึ้น อาทิ เงื่อนไขและ เวลาในการจัดเก็บอาหาร รวมถึง MOH มักตรวจพบได้เมื่อมีปริมาณมาก ดังนั้น การสุ่มตรวจตัวอย่าง จึงควรทำเมื่อปริมาณการโอนถ่ายของสารอยู่ที่ระดับสูงสุด
                   ๓. ทั้งนี้ เพื่อให้การสุ่มตรวจและผลที่ได้รับจากการสุ่มตรวจมีความถูกต้องแม่นยำ ประเทศสมาชิก EU จำต้องมีเครื่องมือวิจัยที่เหมาะสม โดยให้มีห้องปฏิบัติการอ้างอิงของ EU (Reference Laboratory) ด้านวัสดุที่สัมผัสกับอาหารเป็นผู้กำหนดวิธีการสุ่มตรวจและวิจัยที่เกี่ยวข้องและให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก ทั้งนี้ EU กำหนดให้การสุ่มตรวจตัวอย่างต้องเป็นไปตามข้อกำหนด Commission Regulation (EC) No 333/2007 โดยต้องทำการสุ่มตรวจทั้งในอาหารและในตัวภาชนะบรรจุตามลักษณะ ที่วางจำหน่าย และถ้าหากมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสาร MOH ในอาหารเกิดขึ้น ประเทศสมาชิกก็จำต้องทำการสำรวจเพื่อหาแหล่งที่มาของการปนเปื้อนนั้นๆ ณ โรงงานผู้ผลิต หรือถ้าหากการปนเปื้อน เกิดขึ้นจากภาชนะบรรจุ ทางประเทศสมาชิกก็จำต้องสืบหาต้นเหตุของการปนเปื้อนจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ นั้นๆ ด้วย
                        ​ โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิก EU ผู้ประกอบการภาคอาหาร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้จัดส่ง ภาชนะบรรจุที่สัมผัสกับอาหารและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องส่งมอบผลการสุ่มตรวจหาสารดังกล่าวในลักษณะ พื้นฐานมวลรวม (whole mass basis) และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตามแบบฟอร์มอิเลคทรอนิคส์ที่ EFSA กำหนด ไว้เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลต่อไป โดยต้องรวบรวมส่งผลภายในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐, วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ และครั้งสุดท้ายภายในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  ตามลำดับ และถ้าหากมีข้อมูลของปี ๒๕๕๙ ที่ยังไม่ได้จัดส่งให้แก่ทาง EFSA ก็ขอให้จัดส่งให้ด้วยเช่นกัน
                   ๔. ทั้งนี้ รายละเอียดข้อแนะนำดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
                    ๕. จากที่ EU ออกข้อแนะนำใหม่ในการกำหนดให้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าอาหาร ครอบคลุมไปยังการสุ่มตรวจวัสดุและภาชนะที่บรรจุอาหาร เพื่อตรวจหาไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในครั้งนี้  จึงคาดว่า EU จะนำผลที่ได้จากการสุ่มตรวจทั้งหมดตลอดระยะเวลา ๓ ปี ไปสรุปปัญหาแหล่งที่มาที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับสารตกค้างดังกล่าวต่อไปในอนาคต

                                                โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

EU Food News_EU ขึ้นทะเบียนสารสกัดจากถั่วเหลืองหมักให้เป็น Novel Food รายใหม่

เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๐ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศลงใน EU Official Journal L 18/50 Commission Implementing Decision (EU) 2017/115 of 20 January 2017 authorising the placing on the market of fermented soybean extract as a novel food ingredient under Regulation (EC) No 258/97 of the European Parliament and of the Council ว่าด้วย การอนุญาตให้สารสกัดจากถั่วเหลืองหมักขึ้นบัญชีอาหารที่ผลิตขึ้นด้วยนวัตกรรมใหม่ (Novel food)  โดย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
               ๑.  ความเดิม : เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ บริษัท Japan Bio Science Laboratory ได้ยื่นคำร้องต่อทางการเบลเยี่ยม เพื่อขอขึ้นทะเบียนสารสกัดจากถั่วเหลืองหมัก (fermented soybean extract) ให้อยู่ในบัญชีรายชื่ออาหารที่ผลิตขึ้นด้วยนวัตกรรมใหม่ (Novel food)  ของสหภาพยุโรป โดยจาก การประเมินผลของทางการเบลเยี่ยมในเบื้องต้นได้ลงความเห็นว่า สารสกัดดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดของ Novel food อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเทศสมาชิก EU บางประเทศที่ได้ลงความเห็นคัดค้าน ดังนั้น ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ขอให้หน่วยงานความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ทำการประเมินผลเพื่อตัดสินสารสกัดจากถั่วเหลืองหมัก ภายใต้ Regulation (EC) No 258/97
                ๒. การประเมินผลของ EFSA : ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙  EFSA ได้ลงความเห็นว่า สารสกัดจากถั่วเหลืองหมักเพื่อใช้เป็นอาหารเสริม (food supplement) สำหรับผู้ใหญ่ ไม่มีอันตราย (ยกเว้นหญิง ตั้งครรภ์และมารดาที่อยู่ในระหว่างให้นม) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการบริโภคที่ผู้ยื่นคำร้องระบุไว้ โดยกำหนด สัดส่วนการบริโภคว่า ไม่ควรบริโภคเกินกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น EFSA จึงเห็นควรอนุญาต ให้สารสกัดจากถั่วเหลืองหมัก ทั้งในลักษณะแคปซูล อัดเม็ด และชนิดผง ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ Novel food ของ EU ได้นับแต่นี้ไป โดยติดฉลากสินค้าให้ถูกต้องตาม Regulation (EC) No 258/97 และ Regulation (EU) No 1169/2011
                    อย่างไรก็ดี จากการทดลองของ EFSA พบว่า สารสกัดจากถั่วเหลืองหมักมีส่วนผสมของ เอนไซม์นัตโตะไคเนส  (Nattokinase) ซึ่งเมื่อทดลองฉีดสารดังกล่าวเข้าในตัวสัตว์ พบว่า ก่อให้เกิดปฏิกริยา การสลายลิ่มเลือด (fibrinolytic) และการละลายลิ่มเลือด (thrombolytic) ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ที่บริโภค สารสกัดจากถั่วเหลืองหมักดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในกรณีที่มีการรับประทานยาอื่นๆ ไป พร้อมๆ กับการใช้สารสกัดจากถั่วเหลืองหมักดังกล่าว                
                ๓. สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ดังนี้
                ๔. กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

                        โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Food Law Update_THDOF

ไปดาวน์โหลดตาม link นี้นะคะ

LIST OF APPROVED ESTABLISHMENTS





ที่มา กรมประมงค่ะ