วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

EU Food News_EU ออกข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัลในอาหารและภาชนะบรรจุ

 เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ตีพิมพ์ประกาศ Commission Recommendation (EU) 2017/84 of 16 January 2017 on the monitoring of mineral oil hydrocarbons in food and in materials and articles intended to come into contact with food ใน EU Official Journal L 12/95  ซึ่งเป็นข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล  (mineral oil hydrocarbons) ในอาหารและในวัสดุและภาชนะที่สัมผัสกับอาหาร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
             ๑. ข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล  (Mineral Oil Hydrocarbons : MOH)  ในอาหาร รวมถึงในวัสดุและภาชนะบรรจุอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป กำหนดให้ประเทศสมาชิก ผู้ประกอบการภาคเอกชนใน EU  ต้องให้ความร่วมมือในการสุ่มตรวจสินค้า อาหารเพื่อหาการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีที่มาจากน้ำมันดิบ และผลิตได้ทางเคมีจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และมวลชีวภาพ ไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัลสามารถพบได้ในอาหารทั่วไปจากการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อม จากน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวและผลิตสินค้าอาหาร จากเทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิต วัตถุเจือปนอาหาร และวัสดุและภาชนะบรรจุอาหาร   แม้ว่าสินค้าไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัลที่ใช้กับอาหารจะได้ผ่านกระบวนการปรับลดค่าของ Minaral Oil Aromatic Hydrocarbons (MOAH) ให้ต่ำที่สุดแล้วก็ตาม
                 ๒.ในปี ๒๕๕๕ EFSA มีผลสรุปว่า กลุ่มสาร MOH ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ โดย MOAH อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่ MOSH (Mineral Oil Saturated Hydrocarbons) สามารถสะสมในเนื้อ เยื่อมนุษย์ และทำลายตับ    นอกจากนี้ MOAH  บางตัวเป็นสารก่อการกลายพันธุ์และ สารก่อมะเร็ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสาร MOH เพื่อให้มีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของ MOSH และ MOAH ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในอาหาร อย่างไรก็ดี EU คาดว่า กระดาษและกล่องที่ใช้บรรจุอาหาร (paper and board packaging)  อาจเป็นที่มาของความเสี่ยงนั้นๆ ด้วย ดังนั้น จึงกำหนดให้เฝ้าระวังอาหารชนิดกึ่งสำเร็จรูป (pre-packaged food) วัสดุที่ใช้บรรจุอาหาร (packaging material) และวัสดุที่ใช้กั้น (functional barriers) รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการจัดเก็บและแปรรูปอาหาร ซึ่งตัวแปรบางอย่าง สามารถก่อให้เกิดการโอนถ่ายของสาร MOH ที่มีอยู่ในภาชนะไปสู่อาหารได้ง่ายขึ้น อาทิ เงื่อนไขและ เวลาในการจัดเก็บอาหาร รวมถึง MOH มักตรวจพบได้เมื่อมีปริมาณมาก ดังนั้น การสุ่มตรวจตัวอย่าง จึงควรทำเมื่อปริมาณการโอนถ่ายของสารอยู่ที่ระดับสูงสุด
                   ๓. ทั้งนี้ เพื่อให้การสุ่มตรวจและผลที่ได้รับจากการสุ่มตรวจมีความถูกต้องแม่นยำ ประเทศสมาชิก EU จำต้องมีเครื่องมือวิจัยที่เหมาะสม โดยให้มีห้องปฏิบัติการอ้างอิงของ EU (Reference Laboratory) ด้านวัสดุที่สัมผัสกับอาหารเป็นผู้กำหนดวิธีการสุ่มตรวจและวิจัยที่เกี่ยวข้องและให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก ทั้งนี้ EU กำหนดให้การสุ่มตรวจตัวอย่างต้องเป็นไปตามข้อกำหนด Commission Regulation (EC) No 333/2007 โดยต้องทำการสุ่มตรวจทั้งในอาหารและในตัวภาชนะบรรจุตามลักษณะ ที่วางจำหน่าย และถ้าหากมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสาร MOH ในอาหารเกิดขึ้น ประเทศสมาชิกก็จำต้องทำการสำรวจเพื่อหาแหล่งที่มาของการปนเปื้อนนั้นๆ ณ โรงงานผู้ผลิต หรือถ้าหากการปนเปื้อน เกิดขึ้นจากภาชนะบรรจุ ทางประเทศสมาชิกก็จำต้องสืบหาต้นเหตุของการปนเปื้อนจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ นั้นๆ ด้วย
                        ​ โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิก EU ผู้ประกอบการภาคอาหาร ผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้จัดส่ง ภาชนะบรรจุที่สัมผัสกับอาหารและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องส่งมอบผลการสุ่มตรวจหาสารดังกล่าวในลักษณะ พื้นฐานมวลรวม (whole mass basis) และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตามแบบฟอร์มอิเลคทรอนิคส์ที่ EFSA กำหนด ไว้เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลต่อไป โดยต้องรวบรวมส่งผลภายในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐, วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ และครั้งสุดท้ายภายในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  ตามลำดับ และถ้าหากมีข้อมูลของปี ๒๕๕๙ ที่ยังไม่ได้จัดส่งให้แก่ทาง EFSA ก็ขอให้จัดส่งให้ด้วยเช่นกัน
                   ๔. ทั้งนี้ รายละเอียดข้อแนะนำดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
                    ๕. จากที่ EU ออกข้อแนะนำใหม่ในการกำหนดให้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าอาหาร ครอบคลุมไปยังการสุ่มตรวจวัสดุและภาชนะที่บรรจุอาหาร เพื่อตรวจหาไฮโดรคาร์บอนจากน้ำมันมิเนอรัล ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในครั้งนี้  จึงคาดว่า EU จะนำผลที่ได้จากการสุ่มตรวจทั้งหมดตลอดระยะเวลา ๓ ปี ไปสรุปปัญหาแหล่งที่มาที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับสารตกค้างดังกล่าวต่อไปในอนาคต

                                                โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น