วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

India Food News_อินเดีย พบโรคASDD และ EHDในกุ้งแวนนาไม

อินเดียพบกุ้งแวนนาไมติดเชื้อโรค Abdominal Segment Deformity Disease (ASDD) และ microsporidian Enterocytozoon Hepatopenaei (EHP) ซ้อน ซึ่งส่งผลความเสียหายต่อผู้เลี้ยงกุ้งกว่า 10,000 ล้านรูปี ในแต่ละปี

            นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Andhra รายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างกุ้งขาวแวนนาไม (Litopenaeus Vannamei) ในอินเดีย พบการติดเชื้อซ้อนระหว่างเชื้อสาเหตุโรค Abdominal Segment Deformity Disease (ASDD) และโรค microsporidian Enterocytozoon Hepatopenaei (EHP) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกุ้งแวนนาไม นอกจากนี้ยังพบตัวอย่างของเหลว hemolymph  (คล้ายกับเลือดของกุ้ง) มีการปนเปื้อนเชื้อ กลุ่ม Vibrio ได้แก่ V. herring , Vatnthans  และ V. alginolyticus ในตัวอย่างกุ้งที่พบการติดเชื้อซ้อนด้วย

            ทั้งนี้ นอกจากพบเชื้อสาเหตุโรคดังกล่าวแล้ว นักวิจัยยังพบโพรไบโอติกจากแบคทีเรีย Bacillus cereus และได้การทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง โดยพบว่าโพรไบโอติกดังกล่าวอาจมีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อโรคหลายชนิด และมีแนวโน้มว่าจะได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
 
 
 
 
ที่มา : thefishsite
สรุปโดย : มกอช.

AUS Food News_ออสเตรเลียประกาศข้อปฏิบัติการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปลา

            กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย ได้ออกประกาศ ข้อปฏิบัติสำหรับผู้นำเข้าเรื่องการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ในการแปรรูปปลา ตามหลักการของกฏหมายควบคุมอาหารนำเข้าของออสเตรเลียปีพ.ศ.2535 (Imported Food Control Act 1992) ที่ห้ามมิให้มีการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในการแปรรูปปลา เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสี  แต่ไม่ได้ห้ามตรวจพบก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในระดับต่ำ  ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมถึงไม่ได้ห้ามการตกค้างของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเนื้อปลาที่ผ่านการรมควัน และตามข้อกำหนดการติดฉลาก กรณีที่แปรรูปเนื้อปลาด้วยการรมควัน ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องติดฉลากให้ผู้บริโภคทราบ รวมถึงควรปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางออสเตรเลียอย่างเคร่งครัด

            ทั้งนี้ ข้อกำหนดปริมาณการตกค้างของคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่แนะนำให้ผู้นำเข้าใช้พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์อาจใช้คาร์บอนมอนอกไซด์ ออสเตรเลียได้แนะนำค่าการตกค้างที่ 0.05-0.2 mg/kg ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป ไว้เป็นข้อแนะนำเบื้องต้น
ที่มา : กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำออสเตรเลีย
สรุปโดย: มกอช. 

France Food News_ฝรั่งเศส เริ่มทดลองบังคับติดฉลากแหล่งกำเนิด 2 ปี

แนวโน้มการทดลองบังคับใช้กฎระเบียบการติดฉลากประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า Country of origin labeling (COOL) ของฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศ แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพากทางการค้าระหว่างประเทศในลักษณะเดียวกับระเบียบการติดฉลากแหล่งกำเนิดสินค้าของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากแนวทางของระเบียบส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับสหภาพยุโรป ทว่า ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีข้อกังวลสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์นมที่โดยปกติเคยได้สิทธิการขนถ่ายสินค้าข้ามพรมแดนมายังสหภาพยุโรปว่าอาจได้ผลกระทบจากการบังคับใช้ระเบียบฉบับนี้

          การทดลองติดฉลากประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า(COOL)ได้เริ่มบังคับใช้กับสินค้าประเภทเนื้อและนมและกำหนดให้สินค้าแปรรูปที่มีสัดส่วนของส่วนประกอบเนื้อ8%และนม50%หรือมากกว่านั้นจะต้องติดฉลากCOOLทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเผยผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการติดฉลาก COOL เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลแหล่งผลิตสินค้าอย่างชัดเจนถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ของผู้บริโภค โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในฝรั่งเศส90%พึงพอใจกับการติดฉลาก COOL 

          ทั้งนี้ แนวทางการติดฉลากCOOLในฝรั่งเศสจะใช้ระบบที่เรียกว่า“Sens”ซึ่งเป็นระบบที่ใช้สีและแสดงสัญลักษณ์ต่างๆเช่น ไขมัน น้ำตาล เกลือ และจำนวนแคลอรี่ เพื่อชี้ให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
 

 
 
 
ที่มา : foodsafetynews.com
สรุปโดย มกอช.

AUS Food News_ออสซี่เตรียมระงับนำเข้ากุ้งดิบชั่วคราวหลังโรคตัวแดงดวงขาวระบาด

ออสเตรเลียเตรียมระงับนำเข้ากุ้งดิบชั่วคราว มุ่งกำจัดโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้งเลี้ยง-กุ้งธรรมชาติ ไทยเตรียมเจรจาปลดล็อกมาตรการหลังติดร่างแห
                เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ออสเตรเลียรายงานพบโรคตัวแดงดวงขาวระบาดเป็นครั้งแรกในฟาร์มกุ้ง 3 แห่ง ของรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลียได้ทำลายกุ้งทั้งหมด และดำเนินการสืบหาสาเหตุเพื่อแก้ไขปัญหาและกำจัดการระบาดแล้ว ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมและสมาคมผู้เพาะเลี้ยงสันนิษฐานสาเหตุของการระบาดมาจากการปนเปื้อนผ่านกุ้งดิบแช่เยือกแข็งที่นำเข้าจากประเทศแถบเอเชีย
                จากสถานการณ์ดังกล่าว ออสเตรเลียจึงเตรียมประกาศมาตรการชั่วคราวเพื่อระงับการนำเข้ากุ้งดิบที่มาจากประเทศที่มีโรคตัวแดงดวงขาว เช่น เวียดนาม จีน มาเลเซีย และไทย โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมประมง เตรียมที่จะเจรจากับออสเตรเลียเพื่อแก้ไขปัญหาและขอยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้ากุ้งจากไทยโดยเร็วที่สุดแล้ว
การนำเข้ากุ้งไปยังออสเตรเลียในปัจจุบันกำหนดให้กุ้งดิบต้องถอดหัว ปอกเปลือก และกักกันเพื่อสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้าที่ระดับความเข้มงวด 100% (สุ่มตรวจทุก Consignment สินค้า) โดยเมื่อปี 2558 ไทยสามารถส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังออสเตรเลียคิดเป็นมูลค่า 955 ล้านบาท และกุ้งต้ม-กุ้งแปรรูปแช่เยือกแข็ง 1,135 ล้านบาท

 
สรุปโดย: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

USA Food News_นักวิจัยสหรัฐฯพัฒนาวัคซีน Salmonella

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเท็กซัสได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Salmonella แบบหยอด หวังสร้างภูมิคุ้มกันลดความสูญเสียการติดเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารที่มีผู้ป่วยกว่าปีละ 1 ล้านคน

               เชื้อ Salmonella ถือเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อโรคทางเดินอาหารเป็นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา รองจาก Norovirus ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อ Salmonella ถึง 1 ล้านคน ต้องรับเข้าการรักษา 19,300 คน และเสียชีวิตมากกว่า 400 คน นอกจากนี้ยังพบว่าแม้การติดเชื้อ Salmonella สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่เชื้อ Salmonella บางสายพันธุ์อาจดื้อยา ทำให้มีความต้องการใช้วัคซีนเพื่อไปกระตุ้นภูมิคุ้นของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น 

                ล่าสุด โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเท็กซัสได้พัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Salmonella แบบหยอด เนื่องจาก สะดวกต่อการใช้ง่ายและการจัดการ ซึ่งคาดว่าการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวจนถึงขั้นการทดสอบและใช้งานจริงอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี และได้รับการสนับสนุนเงินจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา

ที่มา: foodsafetynews.com สรุปโดย: มกอช. 

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

EU Food News_EU แก้ไขหน่วยวัดค่าลำดับความเข้มข้นวิธีการสุ่มตรวจวิเคราะห์สารอัลฟลาทอกซินในอาหาร

ตามที่ สหภาพยุโรปได้เคยปรับแก้ไขวิธีการสุ่มตรวจและวิธีการตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของสารไมโคทอกซินในเครื่องเทศและอาหารเสริม รวมทั้งมาตรฐานการตรวจหาสารทอกซิน T-2, HT-2  และ citrinin ในสินค้าอาหาร ตาม Commission Regulation (EU) No 519/2014 of 16 May 2014 amending Regulation (EC) No 401/2006 as regards methods of sampling of large lots, spices and food supplements, performance criteria for T-2, HT-2 toxin and citrinin and screening methods of analysis ก่อนหน้านี้ นั้น 
            บัดนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ได้มีประกาศ Corrigendum to Commission Regulation (EU) No 519/2014 of 16 May 2014 amending Regulation (EC) No 401/2006 as regards methods of sampling of large lots, spices and food supplements, performance criteria for T-2, HT-2 toxin and citrinin and screening methods of analysis ดังกล่าว เพื่อขอปรับแก้ไขในส่วนของตาราง 4.3.1.1 (a) ว่าด้วย การกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติ (performance criteria) ในการตรวจหาการปนเปื้อนของสารอัลฟลาทอกซิน (aflatoxins) ซึ่งจากการเปรียบเทียบระหว่างตารางเดิมกับตารางใหม่แล้ว พบว่า การ แก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขในส่วนของหน่วยวัดค่าลำดับความเข้มข้น (concentration range) ซึ่งจากเดิม EU กำหนดให้ใช้หน่วยมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) หากขณะนี้ กำหนดใหม่ให้เป็นไมโครกรัมต่อกิโลกรัม (µg/kg) แทน  
            สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
                               โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

EU Food News_EU อนุญาตให้ใช้ sodium benzoate, potassium sorbate, formic acid และ sodium formate เป็นสารเสริมในอาหารสัตว์

 เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2016/2023 of 18 November 2016 concerning the authorisation of sodium benzoate, potassium sorbate, formic acid and sodium formate as feed additives for all animal species ใน EU Official Journal L 313/14 ว่าด้วยการเพิ่มรายชื่อสารที่อนุญาตให้ใช้เป็นสารเสริมในอาหารสัตว์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
                  ๑. กฎระเบียบดังกล่าวเป็นการอนุญาตการใช้สาร ๔ รายการ คือ sodium benzoate, potassium sorbate, formic acid และ sodium formate  เพื่อเป็นสารเสริมในอาหารสัตว์ (feed additive) ในกลุ่มสารเสริมทางเทคโนโลยี (technological additives) เพื่อใช้ในกระบวนการทำพืชหมัก (silage) สำหรับสัตว์ทุกชนิด เป็นเวลา ๑๐ ปี คือ ตั้งแต่วันที่กฎระเบียบนี้มีผลบังคับตามกฎหมาย ไปจนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๙  (กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากประกาศใน EU Official Journal โดยกำหนดสัดส่วนการใช้งาน ดังนี้
                          ๑.๑ sodium benzoate ปริมาณส่วนผสมสูงสุด ๒,๔๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหารสัตว์ ๑ กิโลกรัม (ที่มีความชื้น ๑๒%)
                          ๑.๒ potassium sorbate ปริมาณส่วนผสมสูงสุด ๓๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหารสัตว์ ๑ กิโลกรัม (ที่มีความชื้น ๑๒%)
                          ๑.๓ formic acid ปริมาณส่วนผสมสูงสุด ๑๐,๐๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหารสัตว์ ๑ กิโลกรัม (ที่มีความชื้น ๑๒%)
                          ๑.๔ formic acid ปริมาณส่วนผสมสูงสุด ๑๐,๐๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหารสัตว์ ๑ กิโลกรัม (ที่มีความชื้น ๑๒%)
                   ๒.  อย่างไรก็ดี กฎระเบียบดังกล่าวได้อนุโลมช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ดังนี้
                           -        sodium benzoate และอาหารสัตว์ (feed) ที่มีส่วนประกอบ ของ sodium benzoate ที่ผลิตและติดฉลากก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่ปฎิบัติตามข้อกำหนดเดิมก่อนวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ สามารถวางจำหน่ายต่อไปและใช้งานไปได้จนกว่าจะหมดไปจากคลังสินค้า
                   ๓. สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังนี้
                      โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

EU Food News_EU ออกข้อแนะนำควบคุมการปนเปื้อน Δ9-tetrahydrocannabinol และ cannabinoids อื่นๆ ในอาหาร

     เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ตีพิมพ์ประกาศ Commission Recommendation (EU) 2016/2115 of 1 December 2016 on the monitoring of the presence of Δ9-tetrahydrocannabinol, its precursors and other cannabinoids in food ใน EU Official Journal L 327/103  ซึ่งเป็นข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของ Δ9-tetrahydrocannabinol และสารตั้งต้น รวมถึง cannabinoids อื่นๆ ในอาหาร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
               ข้อแนะนำว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนของ Δ9-tetrahydrocannabinol และสารตั้งต้น รวมถึง cannabinoids อื่นๆ ในอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกผู้ประกอบการภาคเอกชนใน EU  ต้องให้ความร่วมมือในการสุ่มตรวจสินค้าอาหารเพื่อหา     Δ9-tetrahy- drocannabinol และสารตั้งต้น (precursors) รวมถึง cannabinoids อื่นๆ
                สาเหตุเนื่องจากมีการตรวจพบ tetrahydrocannabinol (THC) ตกค้างในนมและอาหาร อื่นๆ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ ซึ่ง tetrahydrocannabinol หรือ delta-9-tetrahydrocannabinol (Δ9-THC) เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มาจากกัญชง (Hemp : Cannabis sativa) โดย EFSA ได้กำหนด ค่าอ้างอิงวิกฤต* (Acute Reference Dose : ARfD) ของ delta-9-tetrahydrocannabinol ไว้ที่ระดับ ๑ µg Δ9-THC/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว
                  ดังนั้น เพื่อให้ EU ได้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตกค้างของสารดังกล่าวในสินค้าอาหาร ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ รวมถึงค่าถ่ายเทจากอาหารสัตว์ไปสู่อาหารมนุษย์ จึงกำหนดให้มีการสุ่มตรวจ สินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ โดยเฉพาะอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงมาด้วยอาหารสัตว์ ที่มีส่วนผสมของกัญชง หรือจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีกัญชงเป็นส่วนประกอบ ตลอดจนในสินค้าอาหาร ที่ทำจากกัญชง หรือที่มีกัญชงเป็นส่วนประกอบ หรือที่มีส่วนผสมที่มาจากกัญชงด้วย เพื่อวิเคราะห์หาตัวตั้ง ต้น non-psychoactive ซึ่งได้แก่ delta-9-tetrahydrocannabinolic acids (2-COOH-Δ9-THC termed Δ9-THCA-A และ 4-COOH-Δ9-THC termed Δ9-THCA-B) และ  cannabinoids อื่นๆ อาทิ delta-8-tetrahydrocannabinol (Δ8-THC), cannabinol (CBN), cannabidiol (CBD) และ delta-9-tetrahydrocannabivarin (Δ9-THCV) 
                    ทั้งนี้ EU กำหนดให้การสุ่มตรวจตัวอย่างต้องเป็นไปตามข้อกำหนด Commission Regulation (EC) No 401/2006 รวมถึงให้อิงใช้วิธีตรวจวิจัย chromatographic separation coupled with mass spectrometry (LC-MS or GC-MS) ตามด้วย clean-up step (liquid-liquid LLE) หรือ solid phase extraction (SPE) โดยเสนอว่าควรใช้เทคนิค chromatographic ที่สามารถกำหนดแยกค่าของ Δ9-THC ออกจากสารตั้งต้นและ cannabinoids อื่นๆ ในอาหารได้ด้วย
                    โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิก EU ต้องส่งมอบผลการสุ่มตรวจหาสารดังกล่าวในอาหาร อย่างสม่ำเสมอ และรวบรวมส่งผลอย่างช้าสุดภายในเดือนตุลาคม  ๒๕๖๒ ตามแบบฟอร์มที่ EFSA กำหนดไว้ใน “Guidance of EFSA on Standard Sample Description for Food and Feed” และข้อกำหนดเฉพาะ อื่นๆ ของ EFSA ร่วมด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดข้อแนะนำดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
                                                                                                                โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

* ค่าอ้างอิงวิกฤติ (Acute Reference Dose-ARfD) 

:  ค่าอ้างอิงวิกฤติ (ARJD) เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำในการประเมินความปลอดภัย ของสารเคมีเกษตรทุกชนิด ค่าARJD นี้ เป็นการประมาณค่าปริมาณของสารใดสารหนึ่งในอาหาร หรือน้ำดื่ม ที่สามารถบริโภคได้ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ต่อมื้อ หรือ ต่อวันโดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยคำนวณเป็นเปอร์เซนต์ (หรือร้อยละ) ของน้ำหนักตัว

EU Food News_EU พิจารณาแก้ไขมาตรการสุ่มตรวจเข้มผักจากประเทศที่สาม (Review ครั้งที่ ๒๕)

ตาม Regulation (EC) No 669/2009 ที่ออกมาตรการสุ่มตรวจเข้มพืชกลุ่มเสี่ยงของประเทศที่สามที่ส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป โดยให้มีผลปรับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๓ นั้น
                ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศผลการพิจารณาแก้ไขมาตรการสุ่มตรวจเข้มครั้งที่ ๒๕ อย่างเป็นทางการใน EU Official Journal L 327/50 ตาม Commission Implementing Regulation (EU) 2016/2107 of 1 December 2016 amending Annex I to Regulation (EC) No 669/2009 as regards the list of feed and food of non-animal origin subject to an increased level of official controls on imports ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย Commission Implementing Regulation ดังกล่าวยังคงเป็นมาตรการเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่แตกต่างจากการ Review ครั้งที่ผ่านมา (Review ทุก ๖ เดือน) ดังนั้น จึงสรุปภาพรวมการตรวจเข้ม ผักจากไทย ณ ปัจจุบัน ได้ดังนี้
                   ๑. คงการตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในผัก ๒ ประเภท คือ ผักในกลุ่มมะเขือและถั่วฝักยาวจากไทย 
                   ๒.   คงการตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๑๐% ในพริกจากไทย
                  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ จากการ Review ครั้งนี้ พบว่า EU
                   ๑.  เพิ่มการสุ่มตรวจหาสารอัลฟลาทอกซินตกค้างที่ระดับ ๕๐% ในถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงจากประเทศโบลิเวีย
                   ๒.   เพิ่มการสุ่มตรวจหาเชื้อซัลโมแนลล่าปนเปื้อนที่ระดับ ๕๐% ในงาและตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในมะเขือจากประเทศยูกันดา
                   ๓. เพิ่มการสุ่มตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในสับปะรดจากประเทศเบนิน
                   ๔. เพิ่มการสุ่มตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในองุ่นจากประเทศอียิปต์
                   ๕. เพิ่มการสุ่มตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในทับทิมจากประเทศตุรกี
                   ๖. ยกเลิกการสุ่มตรวจหาสารอัลฟลาทอกซินตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในถั่วพิสตาชิโอจากประเทศสหรัฐอเมริกา   
                   ๗. ยกเลิกการสุ่มตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ ๒๐% ในแก้วมังกรจากประเทศเวียดนาม
            สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ดังนี้
                      โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

EU Food News_EU ปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสินค้าที่ปลอดสารตกค้างและอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศที่สาม

EU ปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสินค้าที่ปลอดสารตกค้างและอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศที่สาม

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Decision (EU) 2016/2092 of 28 November 2016 amending Decision 2011/163/EU on the approval of plans submitted by third countries in accordance with Article 29 of Council Directive 96/23/EC ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อประเทศที่สามที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสินค้าที่ปลอดสารตกค้าง เนื่องจากประเทศเหล่านั้นได้ส่งมอบรายงานการควบคุมการตรวจหาสารตกค้างประจำปี ตามเงื่อนไข ที่ EU กำหนดไว้ในมาตราที่ ๒๙ ของกฎระเบียบ Council Directive 96/23/EC และได้ผ่านการพิจารณาให้อยู่ในบัญชีรายชื่อในภาคผนวกของ Decision 2011/163/EU แล้ว
                จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อประเทศที่สามฉบับใหม่นี้ สำนักงานฯ พบว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย สินค้าที่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าได้ยังคงเป็นรายการเดิม ทั้ง ๓ รายการ คือ
                 ๑. สินค้าเนื้อสัตว์ปีก (poultry)
                 ๒. สินค้าสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง (aquaculture)
                 ๓. สินค้าน้ำผึ้ง (honey)
                    อย่างไรก็ดี ตามประกาศดังกล่าว EU ได้เพิ่มการอนุญาตนำเข้าน้ำผึ้งจากประเทศจอร์เจีย ถอนการอนุญาตนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงจากประเทศแกมเบีย ถอนการอนุญาตนำเข้าน้ำผึ้งจากประเทศ เลบานอน และถอนการอนุญาตนำเข้านมจากประเทศเคนยา   ออกจากบัญชีรายชื่อฯ เนื่องจากไม่ส่งรายงานผลควบคุมการปนเปื้อนของสารตกค้างตามข้อกำหนด Council Directive 96/22/EC รวมถึงอนุโลมให้มีการนำเข้า สินค้าสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะไม่ได้ส่งมอบรายงาน ผลฯ หากแต่ได้ให้หลักประกันว่าวัตถุดิบสินค้าสัตว์น้ำเป็นสินค้านำเข้ามาจาก EU และประเทศที่สามที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยัง EU ได้    
                ทั้งนี้ อนุโลมช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้กับน้ำผึ้งจากประเทศเลบานอนให้สามารถยังคงส่งไปยัง EU ได้จนถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ หากผู้นำเข้าสามารถระบุได้ว่า สินค้าดังกล่าวได้มีการออกใบรับรองและถูกจัดส่งมาก่อนวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙              
                กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลปรับใช้ตั้งแต่วันที่  ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เป็นต้นไป โดยสามารถศึกษา บัญชีรายชื่อดังกล่าวเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
                                                 โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป