วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Thailand Food News_ไทยเอาจริง จับเรือประมงเวียดนาม 5 ลำ ฝ่าฝืน พรก.ประมง

ทัพเรือไทยเข้ม พรก.ประมง จับเรือเวียดนามลักลอบทำประมงอ่าวไทย 5 ลำ เผยพร้อมดำเนินคดี-ผลักดันกลับประเทศ
                เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 เรือหลวงคำรณสินธุ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ต.97 ได้ควบคุมเรือประมงสัญชาติเวียดนามจำนวน 5 ลำ พร้อมลูกเรือจำนวนทั้งสิ้น 28 คน ซึ่งลักลอบเข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทย บริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี และเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าเทียบท่าเทียบเรือฐานทัพเรือสงขลา กองทัพเรือภาคที่ 2 เพื่อสอบสวนและดำเนินคดี
                ผลการสอบสวน ไต้ก๋งและลูกเรือให้การว่า เรือประมงเหล่านี้เดินทางมาจากประเทศเวียดนาม โดยรุกล้ำน่านน้ำไทยเพื่อลักลอบเข้ามาทำประมงคราดปลิงทะเล ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในน่านน้ำไทย พ.ศ.2482 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 กองทัพเรือภาคที่ 2 จึงได้ควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะประสานสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยเพื่อทราบและผลักดันกลับประเทศต่อไป
                การควบคุมและดำเนินคดีต่อเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ถือเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated: IUU Fishing) ของประเทศไทย โดยเฉพาะการปฏิบัติภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูป เพื่อรักษาสถานะการแข่งขันในตลาดสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและประกาศกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออก
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2560 เฉพาะการดำเนินงานของกองทัพเรือภาคที่ 2 ก็สามารถจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายได้รวมทั้งสิ้น 8 ลำ ลูกเรือประมงจำนวน 42 คน
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ สรุปโดย: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

Philippine Food News_ฟิลิปปินส์รุก เตรียมขยายตลาดสินค้าฮาลาล

ฟิลิปปินส์วางแผนเตรียมขยายตลาดสินค้าฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้พบว่า มีจำนวนบริษัทหลายรายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ได้ยื่นขอรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากหน่วยตรวจสอบรับรองภายในประเทศ โดยเร็วๆ นี้ ฟิลิปปินส์ได้จัดตั้งคณะกรรมการฮาลาล เพื่อวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์การรับรองสินค้าฮาลาลอีกด้วย
                นอกจากนี้ ศูนย์การค้าและการลงทุนของฟิลิปปินส์ (PTIC) หน่วยงานภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ (DTI) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย   และดูไบ ยังได้เร่งผลักดันและส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากฟิลิปปินส์ไปตลาดคู่ค้าอย่างแข็งขัน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าฮาลาลรายใหญ่ของโลก อีกทั้ง ยังให้บริการข่าวสารทางการตลาดและการค้าให้แก่ผู้ส่งอออก สนับสนุนการจับคู่ภาคธุรกิจกับตลาดใหม่ๆ และการลงทุนร่วมกันระหว่างกลุ่มสินค้าฮาลาลและสินค้าบำรุงรักษาร่างกาย รวมทั้งได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรมุสลิมต่างๆ เพื่อขยายโอกาสการส่งออกในอาเซียนอีกด้วย นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์ ยังได้จัดทำโครงการการท่องเที่ยวฮาลาลเพื่อรับรองบริการมาตรฐานอาหารฮาลาลในสถานประกอบการต่างๆ  เช่น โรงพยายาล รีสอร์ท และโรงแรม อีกด้วย
                การมุ่งขยายตลาดฮาลาลของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ คาดว่าเป็นผลสืบเนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้า   ฮาลาลที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลกสูงถึง 200,000 ล้านเหรียญเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง คาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรชาวมุสลิม จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.4 ของประชากรโลกทั้งหมด ภายในปี 2030 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เข้ามาเที่ยวในฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเร่งเตรียมรองรับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าวด้วย
                อนึ่ง กลุ่มสินค้าอาหารฮาลาลที่ผลิตและจำหน่ายโดยฟิลิปปินส์ เช่น ธัญพืช เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ขนม ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม แป้ง อาหารเสริม เจลาติน ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์นม บะหมี่ พาสต้า น้ำมัน ไก่ เนื้อสัตว์ ผลไม้แปรรูป ผัก สินค้าทะเล อาหารสดและอาหารแช่แข็ง ซอสต่างๆ ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าขณะนี้ ฟิลิปปินส์จะไม่เป็นผู้ผลิตรายหลักในตลาดฮาลาล แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิอากาศประเทศเขตร้อน     ผนวกกับความหลากหลายของทรัพยากร จะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ฟิลิปปินส์ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าฮาลาลหลักในเขตเอเชียได้
 
ที่มา: Business Mirror สรุปโดย: มกอช.
ข้อคิดเห็น : ไทยเรามีมุสลิมมิน้อย (ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวแต่ละปี) เราต้องใช้โอกาสปรับปรุงหรือทำระบบ Halal แบบจริงจังเพื่อสร้างความมั่นใจต่อลูกค้า ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางการค้าอีกเยอะเลยค่ะ

China Food News_จีนตรวจเข้มความปลอดภัยอาหารออนไลน์

ที่ผ่านมาจีนประสบปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยทางอาหารอย่างมาก เช่น การนำ Gutter Oil (น้ำมันที่เหลือทิ้งจากการปรุงอาหาร) กลับมาใช้ใหม่ การติดฉลากปลอมในสินค้าเนื้อสุกรและเนื้อวัวทั้งที่ผลิตมาจากเนื้อสุนัขจิ้งจอกหรือหนู การจำหน่ายเนื้อสุกรที่ตายจากการเป็นโรค หรือการจงใจเติมเมลามีนในนม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงได้ออกมาตรการ/กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่อาหารที่วางจำหน่ายในช่องทางปกติ ล่าสุดจีนได้ออก Order 27 เพื่อให้ครอบคลุมสินค้าอาหารที่จำหน่ายโดยใช้ช่องทางออนไลน์
                สาระสำคัญของ Order 27 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 59 จะครอบคลุมการตรวจสอบและบทลงโทษผู้ที่จำหน่ายหรือผลิตสินค้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางอาหารและสินค้าอาหารออนไลน์ ซึ่งข้อกำหนดบางข้อได้สะท้อนถึงกลุ่มของอาหารเสริม และอาหารทารกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของจีน
   • ผู้ผลิตและผู้ค้าอาหารออนไลน์จะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
   • ผู้ผลิตและผู้ค้าอาหารที่ขายผ่านเว็บไซด์ของบุคคลที่สาม จะต้องแสดงใบอนุญาตประกอบธุรกิจในหน้าเว็บไซด์ด้วย
   • ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องแสดงข้อมูลในรูปแบบที่ชัดเจนและมองเห็นได้ง่าย
 • ผู้ผลิตและผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นมผงสำหรับทารก และ/หรือ อาหารที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ จะต้องแสดงข้อมูลใบรับรอง และข้อมูลของผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย และเว็บไซด์ขององค์การอาหารและยาในประเทศผู้ผลิต ยกเว้นอาหารทางการแพทย์ไม่อนุญาตให้จำหน่ายทางออนไลน์
   • ผู้ผลิตและผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องแสดงข้อความ “This Type of Product Cannot Serve as Substitute for Drugs” 
 • ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย อาหารออนไลน์ต้องรับประกันในการจัดเก็บและการขนส่งอาหารว่ามีความปลอดภัยโดยต้องใช้ตู้เย็น, ฉนวนกันความร้อนหรือแช่แข็ง โดยจะต้องใช้บริการ มีการเก็บรักษาที่เหมาะสมและการขนส่งที่มีความสามารถเพียงพอ
ส่วนอื่นๆ ของกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้อง
   • ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย อาหารออนไลน์ จะต้องไม่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากไปกว่าที่แสดงบนฉลากของผลิตภัณฑ์
   • จะต้องเก็บบันทึกการขายเอาไว้อย่างน้อย 6 เดือนหลังจากสินค้าหมดอายุลง หากไม่ได้ระบุวันหมดอายุจะต้องเก็บบันทึกไว้อย่างน้อย 2 ปี
• หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายทางออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องได้จากผู้จำหน่าย หากไม่พบผู้จำหน่าย ผู้ผลิตเว็บไซด์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย
   • บุคคลที่สามซึ่งให้บริการเว็บไซด์จะถูกระงับ หากปรากฏผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายใด หรือพิจารณาคดีทางกฎหมาย, ถูกฟ้องร้องจากสาธารณะในกรณีความผิดด้านความปลอดภัยอาหาร, อยู่ระหว่างได้รับบทลงโทษ, อยู่ระหว่างกักตัวเนื่องจากกระทำความผิด หรืออยู่ระหว่างได้รับโทษจากหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของจีน
              อนึ่งกฎระเบียบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ
 
ที่มา: Food Safety News สรุปโดย: มกอช.

Korea Food News_มกอช. ย้ำเตือนผู้ประกอบการให้ขึ้นทะเบียนผู้ผลิตกับกระทรวง MFDS สาธารณรัฐเกาหลี

ตามที่กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของสาธารณรัฐเกาหลี (MFDS) ได้ออกกฎระเบียบฉบับใหม่ Special Act on Imported Food Safety Control ว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการจัดสัมมนาให้ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทราบไปเรียบร้อยแล้วนั้น
              มกอช.ขอย้ำเตือนผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสาธารณรัฐเกาหลีให้รีบดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ผลิต1 และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต2 ก่อนส่งออกล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวง MFDS ที่
https://impfood.mfds.go.kr/ เพื่อเลี่ยงปัญหาการถูกปฏิเสธการนำเข้า ณ ด่านนำเข้าของสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการใดที่ยังไม่เคยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี สามารถขึ้นทะเบียนล่วงหน้าได้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วหากประสงค์จะส่งออกในอนาคต 
            1 หากผู้ผลิตและผู้ส่งออกเป็นคนละบริษัทกัน ให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะบริษัทผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น (ผู้ส่งออกไม่ต้องขึ้นทะเบียน) และในการขึ้นทะเบียนต้องแจ้งด้วยว่าบริษัทใดเป็นผู้นำเข้าสาธารณรัฐเกาหลี และหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเข้า ขอให้แจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทใด โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนใหม่
               2 การขึ้นทะเบียนเครื่องจักรให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะเครื่องจักรตัวหลักที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆ ที่สามารถอ้างอิงการผลิตสินค้าได้ เช่น วันที่ผลิต เวลาผลิต เป็นต้น
              หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่ asia1.acfs@gmail.com
 
ที่มา: กองนโยบายมาตราฐานสินค้าเกษตรและอาหาร  สรุปโดย: มกอช.

China Food News_จีนอัพเดตระเบียบกักกันสัตว์น้ำ-ประกาศชื่อด่านนำเข้า

AQSIQ จีน แจ้งปรับปรุงระเบียบการกักกันสัตว์น้ำนำเข้า เน้นขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก-กำกับตรวจสอบตามมาตรฐาน-ประกอบใบรับรองตรวจโรค พร้อมอัพเดตรายชื่อด่านนำเข้า 46 แห่งทั่วประเทศ
                 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 กระทรวงควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ได้ประกาศระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการกำกับดูแลตรวจสอบกักกันสัตว์น้ำนำเข้า (Announcement No.183: Administrative Measures on Entry Inspection and Quarantine of Aquatic Animals) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                - ผู้ส่งออกสัตว์น้ำมายังจีน จะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการดูแลตรวจสอบด้านโรคระบาด สารพิษ และสารอันตราย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศหรือภูมิภาคผู้ส่งออก โดยมีผลการตรวจสอบที่สอดคล้องกับข้อตกลงการตรวจสอบกักกันของทวิภาคีและมาตรฐานบังคับของจีน หรือข้อกำหนดมาตรฐานของ AQSIQ
                - ผู้ขนส่งหรือคุมสินค้าข้ามพรมแดนจีน จะต้องดำเนินการขอตรวจสอบและอนุมัติตามข้อกำหนด และเตรียมเอกสารใบนำส่งสินค้า ใบอนุญาตการตรวจกักกันโรค และใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศหรือภูมิภาคผู้ส่งออก ให้กับหน่วยงานตรวจสอบกักกัน (CIQ) ณ ด่านนำเข้า
                  ดาวน์โหลดคำแปลอย่างไม่เป็นทางการของ Announcement No. 183
ภาษาไทย http://www.acfs.go.th/news/docs/Early_warning_131016_TH.pdf
              นอกจากนี้ AQSIQ ยังได้ประกาศปรับปรุงรายชื่อด่านนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคทั่วประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ด่านขนส่งทางอากาศ ด่านขนส่งทางน้ำ และด่านขนส่งทางบก รวมทั้งสิ้น 46 ด่าน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่
รายชื่อด่านนำเข้า http://www.acfs.go.th/news/docs/Early_warning_131016_CN.pdf
 

ข้อมูล: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
สรุปโดย: มกอช
.

EU Food News_EU ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 EU ได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอใบรับรองการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic) ไปยัง EU (Commission Implementing Regulation (EU) 2016/1842  amending Regulation (EC) No 1235/2008 as regards the electronic certificate of inspection for imported organic products and certain other elements, and Regulation (EC) No 889/2008 as regards the requirements for preserved or processed organic products and the transmission of information) โดยการขอใบรับรองการส่งออกจะต้องทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ภายใต้กฎระเบียบใหม่ หน่วยงานรับรองของรัฐ (Control Authority) หรือหน่วยงานรับรองของเอกชน (Control Body) ที่ได้การรับรองจาก EU จะต้องออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบ TRACES (Trade Control and Expert System) ของ EU ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการส่งออก ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายใน EU ด้วย
กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2560 โดยจะมีระยะเวลาปรับเปลี่ยน (Transition Period) 6 เดือน ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน EU ใช้กฎระเบียบ Council Regulation (EC) No 834/2007 on organic production and labelling of organic products and repealing Regulation (EEC) No 2092/91 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิต ระบบควบคุม และระบบการค้า (trade regime) (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/2fbmqhH) โดยผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยัง EU จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐานรับรองตาม ISO Guide 65 หรือ EN 45011 ซึ่งหน่วยงานของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานดังกล่าว คือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://eur-lex.europa.eu/legal-content/en/TXT/?uri=CELEX:32016R1842

โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

EU Food News_EU อนุญาตให้ใช้ซูคราโลส (sucralose) เป็นสารแต่งกลิ่นรสในหมากฝรั่งที่มีน้ำตาลหรือโพลิออลส์ผสม

 เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ Commission Regulation (EU) 2016/1776  of 6 October 2016 amending Annex II to Regulation (EC) No 1333/2008 of the European Parliament and of the Council as regards the use of sucralose (E 955) as a flavour enhancer in chewing gum with added sugars or polyols ใน EU Official Journal L 272/2 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                 ๑. กฎระเบียบใหม่นี้เป็นการแก้ไข Annex II ใน Regulation (EC) No 1333/2008 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อวัตถุเจือปนอาหาร (food additives) ที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ในอาหาร การแก้ไขในครั้งนี้ เป็นการอนุญาตให้ใช้สารซูคราโลส (sucralose : E 955)  เป็นสารแต่งกลิ่นรสในหมากฝรั่งที่มีน้ำตาลหรือโพลิออลส์ (polyols) ผสม เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติของหมากฝรั่งและเพื่อคงรสชาติให้อยู่ได้นานขึ้นในระหว่างที่เคี้ยว โดยมีเงื่อนไขของปริมาณการ ใช้งานสูงสุดที่ระดับ ๑,๒๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคหมากฝรั่งปกติทั่วไปได้รับปริมาณของสารซูคราโลส ที่ระดับ ๐ – ๐.๑% ของค่า ADI ที่ควรได้รับ  และสำหรับผู้ที่บริโภคหมากฝรั่งอยู่เป็นประจำจะอยู่ที่ระดับ ๐ – ๔.๓% ของค่า ADI  อย่างไรก็ดี ค่าดังกล่าวจะไม่ส่งอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากไม่เกินกว่าค่า ADI (Acceptable Daily Intake : ADI) ที่ EU Scientific Committee on Food (SCF) เคยกำหนดไว้ คือ ที่ระดับ ๑๕ มิลลิกรัม/ น้ำหนักร่างกายเป็นกิโลกรัม/วัน
                 ๒. กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศลงใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๙)  สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ ดังต่อไปนี้
                           โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

EU Food News_EU ประกาศรายชื่อเรือประมงที่ลักลอบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ครั้งที่ ๗

ในทุกปี EU จะประกาศรายชื่อเรือประมงที่ลักลอบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย อันเป็นไปตามข้อกำหนดใน Chapter V ของกฎระเบียบ IUU โดยครั้งล่าสุด (ครั้งที่ ๗) EU ได้ประกาศรายชื่อเรือดังกล่าวเรียบร้อยแล้วในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙  ตาม Commission Implementing Regulation (EU) 2016/1852 of 19 October 2016 amending Regulation (EU) No 468/2010 establishing the EU list of vessels engaged in illegal, unreported and unregulated fishing ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีรายชื่อเรือประมงที่ชักธงไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว แต่มีชื่อเรือ Kunlun หรือ Taishan ซึ่งเคยมาจอดเทียบท่าที่ภูเก็ตได้ถูกนำขึ้นบัญชี IUU list ในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ดี จากเรือ ทั้งหมด ๑๑๔ ลำ พบว่า เรือ IUU ส่วนใหญ่ชักธงของประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้และอัฟริกา และมีเรืออีกจำนวน มากที่ไม่สามารถระบุสัญชาติเรือได้ (unknown)
            โดยรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
            ทั้งนี้ บัญชีรายชื่อเรือประมง IUU ที่ปรากฎในภาคผนวก (Annex) จะมีผลตามกฎหมาย ๗ วันภายหลัง จากประกาศลงใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙)
                                                  โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

EU Food News_EU ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงของไทย

 เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2016/1798 of 30 September 2016 entering a name in the register of protected designations of origin and protected geographical indications (ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง (Khao Sangyod Muang Phatthalung)(PGI) ใน EU Official Journal L 275/1 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
                 ๑. การประกาศครั้งนี้เป็นการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ให้กับ “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ของไทยที่เคยขอขึ้นทะเบียนกับทาง EU มาก่อนหน้านี้ โดยการขึ้นทะเบียน ครั้งนี้ครอบคลุมการคุ้มครอง ๒ ประเภท คือ การคุ้มครองการตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิด (Protected Designation of Origin : PDO) และการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  (Protected Geographical Indication : PGI) ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับประกันว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของแท้ที่มีชื่อและมาจากแหล่งผลิตที่ระบุไว้บนฉลากจริง และมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ขอขึ้นทะเบียนไว้แต่แรกเริ่ม การที่ไทยได้ขึ้นทะเบียน GI ของข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงในครั้งนี้ จึงนับเป็นข้าวชนิดที่ ๒ ต่อจาก ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียน GI จาก EU ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ 
                 ๒. กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศลงใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙)  สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติม ได้จากเวปไซต์ดังต่อไปนี้
                  
 โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

EU Food News_EU กำหนดค่าอนุโลมตกค้างสูงสุดของยารักษาโรคในสัตว์ hydrocortisone aceponate

ด้วย คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2016/1444 of 31 August 2016 amending Regulation (EU) No 37/2010 as regards the substance hydrocortisone aceponate ว่าด้วยการกำหนดค่าอนุโลมตกค้างสูงสุดของยา hydro cortisone aceponate กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เพื่อใช้ต้านการอักเสบในสัตว์ โดยในครั้งนี้กำหนดค่า MRL (Maximum Residue Limit) ของ hydrocortisone aceponate ในนมของสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกชนิด (all ruminants) และม้า (Equidae) ที่ระดับ ๑๐ µg/kg แต่ยังไม่กำหนด ให้ปรับใช้ค่า MRL ดังกล่าวให้ครอบคลุมไปยังเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร
สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ ดังนี้
                กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากประกาศใน EU Official Journal (ประกาศในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๙) และให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป 
โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

[ดาวน์โหลดเอกสาร] การสัมมนาเรื่อง “กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของสาธารณรัฐเกาหลี

การสัมมนาเรื่อง “กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของสาธารณรัฐเกาหลี” เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 59 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
                 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา (MFDS) ของสาธารณรัฐเกาหลี มีกำหนดจัดการสัมมนาเรื่อง “กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของสาธารณรัฐเกาหลี” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับทราบและเข้าใจกฎระเบียบ กฎหมาย และนโยบายการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีเอกสารประกอบการสัมมนา ดังนี้
                
                  - Understanding the Livestock Product Import Policy of Korea [Download]
                  - Special Act on Imported Food Safety Control [Download]

ที่มา : กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ