วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559

China Food News_จีนตรวจเข้มความปลอดภัยอาหารออนไลน์

ที่ผ่านมาจีนประสบปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยทางอาหารอย่างมาก เช่น การนำ Gutter Oil (น้ำมันที่เหลือทิ้งจากการปรุงอาหาร) กลับมาใช้ใหม่ การติดฉลากปลอมในสินค้าเนื้อสุกรและเนื้อวัวทั้งที่ผลิตมาจากเนื้อสุนัขจิ้งจอกหรือหนู การจำหน่ายเนื้อสุกรที่ตายจากการเป็นโรค หรือการจงใจเติมเมลามีนในนม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงได้ออกมาตรการ/กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่อาหารที่วางจำหน่ายในช่องทางปกติ ล่าสุดจีนได้ออก Order 27 เพื่อให้ครอบคลุมสินค้าอาหารที่จำหน่ายโดยใช้ช่องทางออนไลน์
                สาระสำคัญของ Order 27 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 59 จะครอบคลุมการตรวจสอบและบทลงโทษผู้ที่จำหน่ายหรือผลิตสินค้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางอาหารและสินค้าอาหารออนไลน์ ซึ่งข้อกำหนดบางข้อได้สะท้อนถึงกลุ่มของอาหารเสริม และอาหารทารกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของจีน
   • ผู้ผลิตและผู้ค้าอาหารออนไลน์จะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
   • ผู้ผลิตและผู้ค้าอาหารที่ขายผ่านเว็บไซด์ของบุคคลที่สาม จะต้องแสดงใบอนุญาตประกอบธุรกิจในหน้าเว็บไซด์ด้วย
   • ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องแสดงข้อมูลในรูปแบบที่ชัดเจนและมองเห็นได้ง่าย
 • ผู้ผลิตและผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นมผงสำหรับทารก และ/หรือ อาหารที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ จะต้องแสดงข้อมูลใบรับรอง และข้อมูลของผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย และเว็บไซด์ขององค์การอาหารและยาในประเทศผู้ผลิต ยกเว้นอาหารทางการแพทย์ไม่อนุญาตให้จำหน่ายทางออนไลน์
   • ผู้ผลิตและผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องแสดงข้อความ “This Type of Product Cannot Serve as Substitute for Drugs” 
 • ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย อาหารออนไลน์ต้องรับประกันในการจัดเก็บและการขนส่งอาหารว่ามีความปลอดภัยโดยต้องใช้ตู้เย็น, ฉนวนกันความร้อนหรือแช่แข็ง โดยจะต้องใช้บริการ มีการเก็บรักษาที่เหมาะสมและการขนส่งที่มีความสามารถเพียงพอ
ส่วนอื่นๆ ของกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้อง
   • ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย อาหารออนไลน์ จะต้องไม่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากไปกว่าที่แสดงบนฉลากของผลิตภัณฑ์
   • จะต้องเก็บบันทึกการขายเอาไว้อย่างน้อย 6 เดือนหลังจากสินค้าหมดอายุลง หากไม่ได้ระบุวันหมดอายุจะต้องเก็บบันทึกไว้อย่างน้อย 2 ปี
• หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายทางออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องได้จากผู้จำหน่าย หากไม่พบผู้จำหน่าย ผู้ผลิตเว็บไซด์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย
   • บุคคลที่สามซึ่งให้บริการเว็บไซด์จะถูกระงับ หากปรากฏผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายใด หรือพิจารณาคดีทางกฎหมาย, ถูกฟ้องร้องจากสาธารณะในกรณีความผิดด้านความปลอดภัยอาหาร, อยู่ระหว่างได้รับบทลงโทษ, อยู่ระหว่างกักตัวเนื่องจากกระทำความผิด หรืออยู่ระหว่างได้รับโทษจากหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของจีน
              อนึ่งกฎระเบียบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ
 
ที่มา: Food Safety News สรุปโดย: มกอช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น