วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

EU Food News_คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นชอบร่างแผน Fisheries Discard Ban

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เห็นชอบร่างแผน Fisheries Discard Ban อีก 2 ฉบับ เพื่อลดพฤติกรรมการทิ้งสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการลงทะเล (practice of discarding) ในการจับปลาบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้
ร่างแผนทั้ง 2 ฉบับนี้ ครอบคลุมการห้ามทิ้งสัตว์น้ำประเภทที่อาศัยและหากินบริเวณหน้าดิน หรือเหนือพื้นท้องทะเลเล็กน้อย (demersal fisheries) เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำลงทะเล และบังคับให้ชาวประมงต้องนำสัตว์น้ำที่จับได้ขึ้นฝั่งทั้งหมด (landing obligation) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการปฏิรูปนโยบายประมงร่วมของอียู (Common Fisheries Policy)
ทำไมต้องยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำลงทะเล
พฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำลงทะเล คือ การจับปลาโดยไม่มีการวางแผน เลือกเก็บขึ้นมาแค่ปลา หรือสัตว์น้ำราคาสูงที่ชาวประมงต้องการนำมาขาย และทิ้งสัตว์น้ำที่ติดอวนหรือเครื่องมือจับปลาที่ไม่ต้องการลงทะเลทิ้งไป ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นภัยคุกคามต่อการประมงอย่างยั่งยืนและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมประมง
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ประมาณการว่า ในทุกๆ ปี มีสัตว์น้ำถูกปล่อยทิ้งลงทะเลมากกว่า 7 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 8 ของการจับปลาทั้งหมด
นาย Karmenu Vella กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมทางทะเล และการประมง กล่าวว่า แผนนี้มีความสำคัญมากต่อการแก้ไขปัญหาการประมง การบังคับให้นำสัตว์น้ำขึ้นฝั่งทั้งหมดเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น  ก้าวต่อไปคือ การกำหนดเครื่องมือ และวิธีการจับสัตว์น้ำแบบคัดเลือกเป้าหมาย (selective fishing) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาจำนวนปลา (fish stocks) และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวประมง
แผนยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำลงทะเล (Discard Plan)
การยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำลงทะเลนี้ เป็นการกำหนดประเภทปลาที่อาศัยและหากินบริเวณหน้าดิน หรือเหนือพื้นท้องทะเลเล็กน้อย ที่ชาวประมงจะต้องนำขึ้นฝั่งทั้งหมดหากจับได้ในเขตมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีข้อยกเว้นบางประการ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ข้อยกเว้นเกณฑ์ขั้นต่ำ (de minimis exemptions) ที่อนุญาตให้ทิ้งสัตว์น้ำได้บางส่วน ในกรณีที่ยากต่อการเลือกประเภทของสัตว์น้ำ หรือในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการลำเลียง (handling costs) มีราคาสูง
2. ข้อยกเว้นเพื่อความอยู่รอด (survivability exemption) ที่อนุญาตให้ทิ้งสัตว์น้ำบางประเภทได้  แต่เฉพาะประเภทที่มีโอกาสอยู่รอดสูงเท่านั้น
โดยข้อยกเว้นเหล่านี้ ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์  (Scientific, Technical and Economic Committee for Fisheries: STECF) และจะประเมินผลข้อยกเว้นนี้อีกครั้งหนึ่งในปี 2559 โดยใช้ข้อมูลจากประเทศสมาชิกอียูร่วมพิจารณาด้วย
แผนยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำลงทะเล จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นระยะเวลา 3 ปี และอาจมีการปรับปรุงเพิ่มประเภทสัตว์น้ำอีก
ภูมิหลังของนโยบายประมงร่วมของอียู
เป้าหมาย                     
การปฏิรูปนโยบายการประมงร่วมของอียู มีจุดประสงค์เพื่อให้การประมงภายในอียู  มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยระหว่างปี 2558 – 2562 ชาวประมงอียูจะถูกปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการทิ้งสัตว์น้ำ และนำสัตว์น้ำที่จับได้ขึ้นฝั่งทั้งหมด
รายละเอียด                 
นโยบายประมงร่วม ประกอบด้วยข้อกำหนดต่างๆ เพื่อบังคับให้นำสัตว์น้ำที่จับได้ขึ้นฝั่งทั้งหมด รวมถึงกำหนดการใช้กลไกเฉพาะที่มีความยืดหยุ่น ผ่านแผนบริหารจัดการประมงแบบต่อเนื่องหลายปี (comprehensive multiannual plans) หรือผ่านแผนยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำ ในกรณีที่ไม่มีแผนบริหารจัดการประมงแบบต่อเนื่องหลายปี โดยแผนยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำ เป็นเพียงแค่มาตรการชั่วคราวที่มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปีเท่านั้น และเป็นการพัฒนามาจากข้อเสนอร่วม (joint recommendations) โดยประเทศสมาชิกจากภูมิภาคเดียวกัน หรือประเทศในเขต    ที่ราบชายฝั่งทะเล
ความพยายามที่ผ่านมา
เมื่อเดือน ต.ค. 2557 คณะกรรมาธิการได้ออกแผนยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำสำหรับปลาที่อยู่บริเวณผิวหน้าน้ำ หรือกลางน้ำ (pelagic fisheries) และสัตว์น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม (industrial fisheries) ที่ไม่ใช่เพื่อเป็นอาหาร ในน่านน้ำของอียูทั้งหมด และสำหรับปลาคอด (cod) ในเขตทะเลบอลติก โดยแผนยกเลิกพฤติกรรมทิ้งสัตว์น้ำนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558

ที่มา thaieurope.net กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น