EU มีมาตรการล่าสุดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘ เกษตรกรยุโรปหลายพันคนออกมาประท้วงในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความ เดือดร้อนจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม เนื้อหมู เนื้อวัว ผัก และผลไม้ ซึ่งเป็นภาคได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด
สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรของ EU ตกต่ำ สืบเนื่องจากการที่รัสเซียประกาศระงับการ นำเข้าสินค้าเกษตรจาก EU หลายรายการ ความต้องการซื้อจากตลาดที่สำคัญอย่างประเทศจีนลดลง ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมีกำลังซื้อลดลง ประเทศผู้ผลิตนมที่สำคัญของโลกเพิ่มผลผลิต จนทำให้อุปทานนมล้นตลาด สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งในหลายพื้นที่ใน EU ซึ่งส่งผลกระทบต่อการ ปลูกพืชบางชนิด (เช่น ข้าวโพดและพืชอาหารสัตว์) รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกร แอฟริกัน (African Swine Fever : ASF) ในบางภูมิภาคของ EU
๒. นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาตรการ ช่วยเหลือภาคเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งห้ามนำเข้าของรัสเซีย ได้แก่ การจ่ายเงินชดเชยให้กับ ผู้ผลิตผักและผลไม้ที่ถูกนำสินค้าออกจากตลาด (withdrawing) การช่วยเหลือในการจัดเก็บสินค้าของ ภาคเอกชน (private storage aid : PSA) สำหรับผลิตภัณฑ์จากนม มีการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ผลิตนมใน ๔ ประเทศ การช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการส่งออกไปรัสเซียไม่ได้[1] และการนำ มาตรการ PSA มาใช้กับเนื้อหมู
แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและอุปทานล้นตลาดยังคงสร้างแรงกดดัน ในตลาด EU ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัสเซียได้ประกาศระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจาก EU ต่ออีก ๑ ปี หรือจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ คณะกรรมาธิการยุโรปจึงขยายเวลาการจ่ายเงิน ชดเชยแก่ผู้ผลิตผักและผลไม้ผ่านมาตรการ withdrawing ไปจนถึงกลางปี ๒๕๕๙ และขยายระยะเวลา ช่วยเหลือผู้ผลิตเนยและหางนมผงผ่านมาตรการรับซื้อสินค้าโดยภาครัฐ (public intervention) และ PSA ไปจนถึงสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
๓. ล่าสุดในการประชุมคณะมนตรีเกษตรยุโรปซึ่งจัดขึ้นเป็นรอบพิเศษเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘ นาย Jyrki Katainen รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร EU ที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มเติมอีก ๕๐๐ ล้านยูโร โดยจะมุ่งเน้นเป้าหมายสำคัญหลัก ๓ เรื่อง คือ
๓.๑ แก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้เกษตรกร ได้แก่
– การกระจายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ผลิตนมใน EU อย่างเป็นธรรม ตรงเป้าหมายและมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจ่ายให้ผู้ผลิตนมในประเทศสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนสูง
– อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถจ่ายเงินอุดหนุนล่วงหน้า (advance payments) ให้เกษตรกรในอัตราที่สูงขึ้น โดยจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงแก่เกษตรกรล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจาก ๕๐% เป็น ๗๐% ของงบประมาณ direct payments ที่ประเทศนั้นได้รับ และการจ่ายเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาชนบท ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจาก ๗๕% เป็น ๘๕% ของงบประมาณ rural development ที่ประเทศนั้นได้รับ โดยประเทศสมาชิกสามารถเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป
๓.๒ สร้างเสถียรภาพในตลาด ได้แก่
– เสริมสร้างความแข็งแกร่งและต่อเวลาการใช้มาตรการ PSA สำหรับเนยและหางนมผง ออกไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
– นำมาตรการ PSA มาใช้กับเนื้อหมู
– เพิ่มเงินอุดหนุนโครงการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตร (promotion budget) ปี ๒๕๕๙ อีก ๘๑ ล้านยูโร เพื่อกระตุ้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและเนื้อหมู นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ ยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายเงินอุดหนุนร่วม (co-financing) ของ EU จาก ๕๐% เป็น ๗๐-๘๐% และเพิ่มรายการสินค้าที่มีสิทธิ์ขอรับเงินอุดหนุนภายใต้โครงการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า เกษตรใน EU
– เสริมสร้างความแข็งแกร่งในการติดตามข้อมูลตลาดนม (Milk Market Observatory) โดยข้อมูลที่ได้ต้องมีความแม่นยำและทันเหตุการณ์
– เพิ่มความพยายามในการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) หรืออุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT)
– ขยายตลาดใหม่ๆในประเทศที่สาม โดย EU กำลังเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี กับหลายประเทศ และไม่นานนี้ EU ประสบความสำเร็จในการเจรจาการค้าทวิภาคีกับประเทศแคนาดาและ เวียดนาม ซึ่งจะทำให้ EU มีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไปยังคู่ค้าเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้น
นอกเหนือจากมาตรการสร้างเสถียรภาพในตลาดผ่านการกระตุ้นความต้องการซื้อและลด อุปทาน ประเทศสมาชิก/ภูมิภาคต่างๆใน EU อาจใช้งบประมาณภายใต้โครงการพัฒนาชนบท (Rural Development Programmes : RDPs) เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดทางอ้อม เช่น โครงการส่งเสริม การผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพสูง การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของภาคเกษตร การอนุรักษ์ กรรมวิธีผลิตในท้องถิ่น การลงทุนปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มหรือเงินทุนสำหรับฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผล กระทบจากภัยธรรมชาติหรือหายนะต่างๆ
๓.๓ ต่อสู้กับความท้าทายต่างๆในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่
– คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน (High Level Group) เพื่อศึกษาประเด็นที่สำคัญต่างๆ อาทิ สินเชื่อเกษตรกร เครื่องมือบริหารความเสี่ยงและแนวทางเสริมสร้าง อำนาจต่อรองของผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน
– กำหนดให้ทำการประเมิน Milk Package[2] ในปี ๒๕๕๙ และกระตุ้นให้นำมาตรการ ภายใต้ Milk Package มาใช้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร (written contract) ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้แปรรูปนม การเจรจาต่อรองร่วมกัน (collective negotiation) สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรผู้ผลิต (Producer Oraganisations : POs) นอกจากนี้ มาตรการภายใต้ Milk package บางมาตรการอาจนำมาปรับใช้กับสินค้าเกษตรประเภทอื่นได้
– สนับสนุนให้เกษตรกรจากประเทศสมาชิกต่างๆ มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างกัน เช่น วิธีจัดการกับการค้าไม่เป็นธรรม การร่วมกันกำหนดจรรยาบรรณในสาขา อาชีพเดียวกัน การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร และการสร้างเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ในตลาดสินค้าเกษตร
๔. งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในรอบนี้จำนวน ๕๐๐ ล้านยูโร นอกเหนือจากการมีจุด มุ่งหมายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร สร้างเสถียรภาพในตลาด และเพื่อให้ภาคเกษตรสามารถ ต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานได้ดียิ่งขึ้นแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปยังมุ่งหวังให้การใช้จ่าย งบประมาณดังกล่าวมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสังคมไปพร้อมกันด้วย เช่น ปัญหาโภชนาการในกลุ่มผู้อพยพที่ กำลังหลั่งไหลเข้ามาใน EU โดยนำผลิตภัณฑ์นมที่รับซื้อไว้ผ่านมาตรการ public intervention และ PSA มาแจกจ่ายให้แก่ผู้อพยพ หรือการสนับสนุนให้โครงการผลไม้และนมในโรงเรียน (school fruit and milk scheme) มีความแข็งแกร่งขึ้น เพราะเป็นช่องทางระบายสต็อกสินค้าเกษตรส่วนเกินและยังมีประโยชน์ ต่อสุขภาพเยาวชนอีกด้วย
[1] EU จ่ายเงินชดเชยให้ผู้ผลิตนมในประเทศลิธัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนียและฟินแลนด์
[2] คณะกรรมาธิการยุโรปออก Milk Package ในปี ๒๕๕๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ผลิตนมในห่วงโซ่อุปทานและเตรียม พร้อมภาคนมภายหลังจากระบบโควตานมสิ้นสุดลงในปี ๒๕๕๘ โดยมุ่งให้การผลิตนมในอนาคตเป็นไปตามสัญญาณตลาดและมีความยั่งยืน Milk Package มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม ๒๕๕๕ ไปจนถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓
รายงานโดย : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น