นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตันแจ้งว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative Office : USTR) ได้เปิดขอรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้ประกอบการของสหรัฐฯ เพื่อใช้ประกอบการศึกษาผลกระทบกฎหมาย Buy American ของสหรัฐฯ ต่อความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement Agreement : GPA) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ข้อมูลที่ USTR ต้องการศึกษาประกอบการออกกฎหมาย Buy American ที่อาจส่งผลต่อ GPA ครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้ (1) ประสบการณ์ของบริษัทในฐานะของคู่สัญญาหลัก หรือผู้รับจ้างรายย่อย [Subcontractor] เกี่ยวกับ GPA (2) ผลกระทบต่อประเทศภาคี FTA ของสหรัฐฯ (3) ประสบการณ์ของบริษัทในฐานะคู่ค้าสัญญาหลัก หรือผู้รับจ้างรายย่อยเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลสัญญา GPA ที่สหรัฐฯ มีความตกลง FTA หรือมีภาคีในความตกลง GPA (4) สัดส่วนมูลค่าการผลิตภายในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย [Average US Content] ในสินค้าที่บริษัทผลิต / จำหน่ายให้กับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ (5) สัดส่วนมูลค่าการผลิตภายในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย [Average US Content] ในสินค้าที่บริษัทผลิต / จำหน่ายให้กับรัฐบาลต่างประเทศ (6) อุปสรรคหลัก 3 อันดับแรกของการมีเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนมูลค่าการผลิตภายในประเทศร้อยละ 111 ต่อสินค้าที่บริษัทผลิตให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หรือรัฐบาลต่างประเทศ (7) ผลกระทบต่อ FTA ที่มีข้อกำหนดว่าด้วย GPA รวมอยู่ด้วย (8) ผลกระทบทั้งปัจจัยบวกและลบของการมีข้อกำหนด Buy American และ (9) ประสบการณ์ของบริษัทเกี่ยวกับข้อขัดแย้งระหว่างข้อกำหนด Buy American และข้อกำหนดภายใต้ FTA ที่สหรัฐฯ เป็นภาคี เพื่อ USTR จะเตรียมเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน ศกนี้
นายวันชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมาย Buy American เป็นกฎหมายเชิงนโยบายที่กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องจัดซื้อจัดจ้างและเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นอันดับแรก ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามความคืบหน้าการออกกฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับนโยบายดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่สหรัฐฯ สามารถผลิตได้ด้วยไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามความคืบหน้าของกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์
https://www.gpo.gov/fdsys/pkg/FR-2017-08-21/pdf/2017-17553.pdf
ที่มา กรมการค้าต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น