๑. เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศกฎระเบียบใหม่ Commission Implementing Regulation (EU) 2016/1842 ว่าด้วยการใช้ใบรับรองการตรวจสอบสินค้า เกษตรอินทรีย์นำเข้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-certification) เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
กฎระเบียบเดิมของ EU (Commission Regulation (EC) No 1235/2008) กำหนดให้ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นำเข้าจากประเทศที่สามจะต้องมี Certificate of inspection for import of products from organic production into the european community หรือที่เรียกว่า “ใบรับรองการ ตรวจสอบ (Certificate of inspection : COI)” ซึ่งออกโดยหน่วยงาน control authorites (CA) หรือ control bodies (CB) ในประเทศที่สามที่ EU เห็นชอบ เป็นเอกสารประกอบการนำเข้า โดยผู้ประกอบการ ต้องยื่น COI ฉบับจริงให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของประเทศสมาชิก (Member State’s competent authority) เพื่อยืนยันความถูกต้องของสินค้าที่ส่งมอบ (verification of the consignment) และเซ็นต์ รับรอง (endorsement) ก่อนจะะอนุญาตให้วางจำหน่ายในตลาด EU
๒. แต่จากรายงานของหน่วยตรวจราชการยุโรป (European Court of Auditors) เมื่อปี ๒๕๕๕ ระบุว่าระบบควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของ EU ยังมีข้อบกพร่อง เพราะแนวทางปฏิบัติ ในการกำกับดูแลสินค้าเกษตรอินทรีย์ของหน่วยงาน CA หรือ CB ในประเทศที่สามอาจแตกต่างกันไปหรือ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EU ทั้งหมด นอกจากนี้ การแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกหรือกับคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นยังไม่เพียงพอ อีกทั้งการ ตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) เส้นทางการเดินทางของสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็ทำได้ยาก โดยเฉพาะ สินค้าที่นำเข้า
ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจึงต้องการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โดยจะนำ ใบรับรองการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-certification) มาใช้ นั่นคือ ข้อมูลต่างๆที่ระบุไว้ใน COI จะถูกป้อนเข้า “ระบบติดตามการเดินทางของอาหารของ EU หรือ Trade Control & Expert System (TRACES)” ซึ่งระบบ TRACES นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การค้า มีความคล่องตัว เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของสินค้าถูกรวบรวมไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ เชื่อมโยงสู่ศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้คู่ค้าหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ได้ง่ายขึ้น การทำงานเอกสารมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบ TRACES ยังช่วยให้ตอบสนอง ต่อเหตุการณ์ที่เป็นภัยเสี่ยงต่อสุขภาพทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะการทราบถึงเส้นทางเดินทางของสินค้าที่ถูก ส่งเข้ามาใน EU จะทำให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงหรือปฏิเสธการรับสินค้านั้นได้อย่างทันท่วงที
๓. กฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการบังคับใช้ใบรับรองการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าแบบ อิเล็กทรอนิกส์หรือ e-certification จะมีผลเริ่มต้นบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป ซึ่งคณะ กรรมาธิการยุโรปกำหนดให้มีช่วงเวลาในการปรับตัวรวม ๖ เดือน นั่นคือ สามารถใช้ได้ทั้งใบรับรองการ ตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าแบบกระดาษหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้จนถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐
การปรับปรุงระบบติดตามการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ทันสมัย โดยใช้ระบบ TRACES ที่ EU ใช้อยู่แล้วกับอาหารประเภทอื่นๆ (เช่น อาหารคน อาหารสัตว์ พืชและสัตว์) นอกจากจะช่วยให้ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทำงานได้ง่ายขึ้นและอำนวยความสะดวกทางการค้า ยังช่วยเสริมสร้าง ความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์
โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป