วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

EU Food News_นโยบายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ของสหภาพยุโรป

นโยบายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ของสหภาพยุโรป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. สหภาพยุโรป (EU) เป็นภูมิภาคที่มีนโยบายเกี่ยวกับ GMOs ที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก โดย ยึดหลักป้องกันล่วงหน้า (precautionary approach) ในการตัดสินใจอนุญาตให้วางจำหน่ายสินค้า GMOs และการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายหลังสินค้า GMOs นั้นได้รับอนุญาตแล้ว โดยมีหน่วยงาน ความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ทำหน้าที่ ประเมินความเสี่ยงของสินค้า GMOs และนำเสนอผลการประเมินให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา
๒. กฎระเบียบหลักเกี่ยวกับ GMOs ใน EU
    ๒.๑ Directive 2001/18/EC on the deliberate release into the environment of GMOs ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ ซึ่งกำหนดกรอบกฎหมาย กฎระเบียบและการบริหารจัดการเกี่ยวกับ GMOs ของประเทศสมาชิก โดยเกี่ยวข้องกับ ๒ ประเด็นหลัก คือ
     -     การวางจำหน่ายสินค้า GMOs และสินค้าที่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบของ GMOs ใน  EU รวมทั้งการเพาะปลูก การนำเข้าและการใช้สินค้า GMOs ในอุตสาหกรรม
     -     การใช้และการกระจายของ GMOs ไปสู่สิ่งแวดล้อมไม่ว่าในกรณีใดก็ตามที่นอกเหนือ จากการวางจำหน่ายในตลาด (เช่น การทดลองต่างๆ)
    ๒.๒ Regulation (EC) No 1829/2003 on genetically modified food and feed ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๖ ซึ่งวางกรอบกฎหมายหลักเกี่ยวกับการควบคุม การจำหน่ายสินค้าอาหาร มนุษย์และอาหารสัตว์ GM หรือสินค้าที่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบของ GMOs ในตลาด EU (รวมถึงการ เพาะปลูก นำเข้า การใช้และการปรับเปลี่ยนพืช สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก GMOs หรือที่มีส่วนผสมและ ส่วนประกอบของ GMOs ในอุตสาหกรรม) กฎระเบียบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์ สัตว์และ สิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวิธีประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่มีมาตรฐานสูงสุดในระดับ EU รวมทั้ง กำหนดขั้นตอนประเมินความเสี่ยงและระบบอนุญาตวางจำหน่ายอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ GM ที่เป็น หนึ่งเดียวกันทั่วทั้ง EU อันจะก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพ มีกรอบเวลาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใส
    ๒.๓ Regulation (EC) No 1830/2003 concerning the traceability and labelling of genetically modified organisms and traceability of food and feed products produced from genetically modified organisms ลงวันที่ ๒๒ ​กันยายน ๒๕๔๖ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจ สอบย้อนกลับและการติดฉลากสินค้าอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ที่ผลิตจาก GMOs ซึ่งต้องการจำหน่ายใน  ตลาด EU โดยเน้นเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องแก่ผู้บริโภคและผู้ใช้สินค้า GMOs
๓. ขั้นตอนการขออนุญาตสินค้า GMOs กฎระเบียบ Regulation (EC) No 1829/2003 กำหนดให้สินค้า GMOs ที่จะเพาะปลูก นำเข้าหรือวางจำหน่ายในตลาด EU ต้องได้รับอนุญาตจากคณะ กรรมาธิการยุโรปเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
     -     ผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศสมาชิกที่ประสงค์จะ ดำเนินการ พร้อมเตรียมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าสินค้า GMOs นั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม
     -     หน่วยงาน EFSA ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยจะทำงาน ร่วมกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด ความคิดเห็น (opinion) ของ EFSA เกี่ยวกับ ความปลอดภัยของสินค้า GMOs  ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะถูกนำเสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรป
     -     ภายหลังได้รับความคิดเห็นจาก EFSA คณะกรรมาธิการยุโรปต้องเตรียมร่างมติ (draft decision) ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธการอนุญาตสินค้า GMOs นั้นภายในเวลา ๓ เดือน และร่างมติจะถูกส่ง ต่อให้คณะกรรมการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์​ (Standing Committee on Food Chain and Animal Health) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อโหวตว่าเห็นด้วยกับร่างมติ ของคณะกรรมาธิการยุโรปหรือไม่ โดยใช้ระบบเสียงข้างมาก (qualified majority) หากคณะกรรมการยุโรป ด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ไม่สามารถหาข้อตกลงได้ (no opinion)  คณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็น ผู้ตัดสินใจและนำเสนอคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรป
     -     คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปมีเวลา ๙๐ วันในการตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธร่างมติ ของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยใช้ระบบเสียงข้างมาก หากปฏิเสธ คณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องนำร่างมติ กลับไปทบทวนใหม่ แต่หากยอมรับหรือไม่สามารถหาข้อตกลงได้ให้ถือว่าร่างมติของคณะกรรมาธิการยุโรป มีผลบังคับใช้ โดยสินค้า GMOs ที่ได้รับอนุญาตต้องขึ้นทะเบียนและมีผลบังคับใช้เป็นเวลา ๑๐ ปี
๔. สินค้า GMOs ที่ได้รับอนุญาตจาก EU
   ๔.๑ การอนุญาตเพาะปลูก นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา มีพืช GM เพียง ๓ ประเภทที่ได้รับ อนุญาตให้เพาะปลูกได้ใน EU แต่ปัจจุบันเหลือข้าวโพด MON810 ของบริษัท Monsanto เพียงประเภท เดียวได้ยังคงรับอนุญาต ข้าวโพด MON810 มีคุณสมบัติทนต่อแมลงศัตรูพืช (corn borer)  โดยประเทศ สมาชิกที่ปลูกมากที่สุด คือ สเปน (๑๓๗,๐๐๐ เฮกตาร์)  และมีการเพาะปลูกเล็กน้อยในประเทศโปรตุเกส สาธารณรัฐเช็ก โรมาเนียและสโลวาเกีย รวมแล้ว EU มีพื้นที่เพาะปลูกพืช GM (MON810) ๑๕๐,๐๐๐ เฮกตาร์หรือราว ๑.๕% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั้งหมดของ EU
    นอกจากข้าวโพด MON810 ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกได้ใน EU ยังมีพืช GM อื่นๆอีก ๘ ประเภทที่อยู่ระหว่างขั้นตอนรอการตัดสินใจ (pending) จาก EU ซึ่ง EFSA แสดงความคิดเห็นด้านบวก ต่อพืช GM ๔ ประเภทที่ยื่นขออนุญาตเข้ามา ที่เหลืออีก ๔ ประเภทยังอยู่ระหว่างขั้นตอนประเมิน ความเสี่ยงโดย EFSA
   ๔.๒ การอนุญาตนำเข้าและจำหน่าย ปัจจุบันมีสินค้า GMOs​ ที่ EU อนุญาตให้นำเข้า จำหน่าย หรือใช้เป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบในอาหาร รวมทั้งหมด ๕๘​ ประเภท ได้แก่ ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง เมล็ดน้ำมันเรปซีดและหัวบีทน้ำตาล[1] ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์มากกว่าอาหารมนุษย์ เพราะ ภาคการเลี้ยงสัตว์ของ EU ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์จากต่างประเทศสูงหรือราว ๖๐% ของความ ต้องการใช้โปรตีนจากพืชทั้งหมด โดยเฉพาะการนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ซึ่งล้วนมาจากประเทศ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืช GM อย่างกว้างขวาง (เช่น บราซิล  อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา ปารากวัย)
    ส่วนอาหารมนุษย์ GM ยังมีส่วนแบ่งตลาดใน EU น้อยมากและไม่หลากหลาย เพราะ ประชากร EU ส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับอาหารที่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบ GMOs อีกทั้งร้านค้าปลีกไม่ค่อย เลือกนำสินค้า GMOs มาวางจำหน่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎระเบียบการติดฉลากอาหารของ EU ที่บังคับ ให้อาหารที่มีร่องรอยของ GMOs แม้แต่เพียงเล็กน้อย (ตั้งแต่ 0.9% ขึ้นไปเทียบกับส่วนประกอบอาหาร ทั้งหมด) ต้องแสดงข้อมูลบนฉลากให้ผู้บริโภคทราบ ซึ่งขัดกับความรู้สึกของผู้บริโภคที่ยังไม่มั่นใจอาหาร GM รวมทั้งผู้บริโภค/ผู้ขายมีทางเลือกอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหาร GM
๕. การจำกัดหรือห้ามปลูกพืช GMที่ได้รับอนุญาตแล้ว มาตรา ๒๓ ของ Directive 2001 /18/EC หรือมาตรการปกป้อง (safeguard cluase) เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค อนุญาตให้ประเทศสมาชิก จำกัดหรือห้ามการเพาะปลูกพืชหรือการใช้สินค้า GMOs ที่ได้รับอนุญาตแล้วในประเทศได้ หากว่ามีหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์ใหม่หรือเพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่าสินค้า GMOs นั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและ/หรือ สิ่งแวดล้อม
    ที่ผ่านมามี ๘ ประเทศที่นำ safeguard clause มาใช้เพื่อห้ามปลูกข้าวโพด MON810 ได้แก่ ออสเตรีย บัลแกเรีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิตาลี ลักเซมเบิร์กและโปแลนด์  แม้ว่า EFSA ยืนยัน ว่าเหตุผลที่ประเทศสมาชิกอ้างเพื่อห้ามการปลูกข้าวโพด GM  ในประเทศล้วนไม่เป็นไปตามหลักการทาง วิทยาศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลอื่นๆที่ไม่เชื่อมโยงกับความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประเด็นดังกล่าว ชี้ให้เห็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างระบบอนุญาตเพาะปลูกพืช GM ในระดับ EU ที่ยึดตามหลักฐานทาง วิทยาศาสตร์ที่ยืนยันความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในขณะที่ การตัดสินใจของประเทศ สมาชิกว่าจะเลือกเพาะปลูกพืช GM ที่ได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่ คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความเสี่ยงในการปนเปื้อนของพืช GM สู่การปลูกพืชทั่วไป
๖. การปฏิรูปกฎระเบียบการอนุญาตเพาะปลูกพืช GM ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ EU ออก  Directive (EU) 2015/412[2] โดยให้อำนาจประเทศสมาชิก EU สามารถจำกัดหรือห้ามการเพาะปลูกพืช GM ที่ได้รับอนุญาตแล้วบนพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนของประเทศได้หรือที่เรียกกันว่า “Opt-out” clause  ซึ่งอาจทำได้ใน ๒ ขั้นตอน คือ
     -     ระหว่างกระบวนการขออนุญาตเพาะปลูกพืช GM ใน EU หรือระหว่างการขอต่ออายุ : ประเทศสมาชิกสามารถขอแก้ไขขอบเขตทางภูมิศาสตร์ (geographic scope) เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดหรือบาง ส่วนของประเทศได้รับการยกเว้นจากการอนุญาตเพาะปลูกพืช GM ระดับ EU
     -     ภายหลังพืช GM ได้รับอนุญาตแล้ว : ประเทศสมาชิกสามารถจำกัดหรือห้ามการเพาะ ปลูกพืช GM ที่ได้รับอนุญาตแล้วบนพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนของประเทศ   โดยใช้เหตุผลอื่นๆที่นอกเหนือ จากความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เพื่อวัตถุประสงค์นโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านการ เกษตร แผนของเมืองและประเทศ การใช้ที่ดิน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-สังคม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการ ปนเปื้อนของ GMOs ในสินค้าอื่นๆ เป็นต้น
           กฎระเบียบใหม่ทำให้ประเทศสมาชิกมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการตัดสินใจจำกัดหรือห้าม การเพาะปลูกพืช GM ในอาณาเขตของประเทศตน โดยไม่ขัดต่อกฎระเบียบของ EU หลักการความพอ สมควรแก่เหตุ (principles of proportionality) และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ (non-discrimination) ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงไว้ซึ่งระบบประเมินความเสี่ยงแบบเดิมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ EFSA  เพียงแห่ง เดียว (single risk assesment system) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการรับรองความปลอดภัยของ สินค้า GMOs ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียมกันทั่วทั้ง EU
๗. ประเทศสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืช GM ภายหลังจาก Directive (EU) 2015/412 มีผลบังคับใช้ ประเทศสมาชิกที่ยื่นขอให้พื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนของประเทศได้รับการยกเว้นจากการ ปลูกพืช GM ที่ได้รับอนุญาตแล้ว (Opt-out option) มีทั้งหมด ๑๙ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยี่ยม (เฉพาะเขตวาโลเนีย) สหราชอาณาจักร (เฉพาะสก็อตแลนด์ เวลส์และไอแลนด์เหนือ) บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิตาลี ลัตเวีย ลิธัวเนีย ลักเซ็มเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์และสโลเวเนีย​ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพืช GM ที่แม้จะได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกได้ใน EU และมี หลักฐานรับรองความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมรับและ ไม่ต้องการปลูกพืช  GM ในประเทศ ทำให้โอกาสของบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช GM จากต่างประเทศที่ ต้องการขยายตลาดใน EU ยังคงเป็นไปได้ยาก


[1]  ศึกษารายชื่อสินค้า GMOs ที่ได้รับการอนุญาต อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือถูกเพิกถอนจากรายชื่อให้เพาะปลูก นำเข้าและวางจำหน่ายใน EU และรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าเหล่านี้ได้ใน http://ec.europa.eu/food/dyna/gm_register/index_en.cfm
[2]Directive (EU) 2015/412 of the European Parliament and of the Council of 11 March 2015 amending Directive 2001/18/EC as regards the possiblility for the Member States to restrict or prohibit the cultivation of genetically modified organisms (GMOs) in their territory
โดย : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น