วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Canada Food News_ข่าว กฎระเบียบ มาตรฐานอาหารของแคนาดา

แคนาดาปรับปรุงปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในผักผลไม้สดและผลพลอยได้จากสัตว์
                หน่วยงาน Health Canada ออกประกาศปรับปรุงปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในผักผลไม้สดหลายรายการ รวมถึง ผลพลอยได้จากสัตว์ ดังนี้
                 - ปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Clopyralid ในผลพลอยได้จากสัตว์ (โค แพะ ม้า และแกะ) ที่ 0.09 ppm ยกเว้นในไตซึ่งกำหนดไว้ที่ 1.5 ppm นอกจากนี้ ยังปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของสารดังกล่าวในนมเป็น 0.015 ppm จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 0.01 ppm ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประชาพิจารณ์
                - ปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Fluopyram ในเชอร์รี่, องุ่น, สตรอเบอร์รี่, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่แบบพุ่มเตี้ย (ยกเว้น บลูเบอร์รี่ และ Lingonberry), แอปเปิ้ล, เมล็ดฝ้าย, ถั่ว Chickpeas, ถั่ว Lentils, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง และพืชหัว
               - กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Kasugamycin ในเชอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จำนวน 10 ชนิด เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้อยู่แล้วในผลไม้ 35 ชนิด อนึ่ง ปริมาณที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ไม่มีระบุไว้ในมาตรฐาน Codex และมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา
               - กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Cyazofamid ในเชอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จำนวน 5 ชนิด อนึ่ง ปริมาณที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ไม่มีระบุไว้ในมาตรฐาน Codex และมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา
                 - กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ Tebuconazole ที่ 0.05 ppm ใน หน่อไม้ฝรั่ง
 
 
ที่มา: compliancecloud.selerant.com สรุปโดย: มกอช.

แคนาดาเดินหน้าผลิตโปรตีนนมลดการนำเข้า
             ภาคอุตสาหกรรมนมในแคนาดา เร่งเพิ่มกำลังการผลิตโปรตีนนมที่ใช้สำหรับการผลิตชีส และลดการนำเข้าลงจากสหรัฐอเมริกา โดยในปีนี้กลุ่มสหกรณ์นมในแคนาดา เช่น Gay Lea Foods Cooperrative ได้เตรียมวางแผนการลงทุนเพื่อผลิตโปรตีนนม ในขณะที่กลุ่มสหกรณ์ Agropur หยุดการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560
       ปัจจัยกระตุ้นสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นผลจากการจัดทำความตกลงเรื่องราคานมที่กลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตและแปรรูปนมในแคนาดาเห็นชอบร่วมกัน ในเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งอนุญาตให้ผู้ผลิตและแปรรูปนมในแคนาดาสามารถซื้อผลิตภัณฑ์นมจากเกษตรกรได้ในราคาที่ต่ำที่สุดของราคาระหว่างประเทศ โดยความตกลงดังกล่าวได้สร้างแรงจูงใจสำหรับภาคอุตสาหกรรมในแคนาดาในการผลิตโปรตีนนมมากขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมนมรายใหญ่ของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และยุโรป ต่างมีความเห็นว่าความตกลงดังกล่าวไม่เป็นธรรมและอาจละเมิดกฎการแข่งขันทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้
              อนึ่ง ความตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่ากลุ่มเกษตรกรจะลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ แต่โครงการชั่วคราวได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว
 
 
 
ที่มา: Reuter.com สรุปโดย: มกอช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น