วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

EU Food News_สรุปรายงานการตรวจพบไข้หวัดนก H5N1 ใปประเทศฝรั่งเศสและผลกระทบที่เกิดขึ้น

๑. ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิตสัตว์ปีกที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยผลิตได้มากเป็นอันดับ ๒ รองจากประเทศโปแลนด์ ในปี ๒๕๕๗ ประเทศฝรั่งเศสมีปริมาณผลผลิตรวมทั้งหมด ๑.๖๗๘ ล้านตันหรือ คิดเป็นสัดส่วน ๑๓% เทียบกับผลผลิตสัตว์ปีกทั่วทั้ง EU
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒5 พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ประเทศฝรั่งเศสยืนยันการตรวจพบไก่บ้านตาย เนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่หมู่บ้าน Biras จังหวัด Dordogne ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เฉียงใต้ของประเทศ แม้ว่าไก่ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกและตายจะมีเพียงแค่ ๒๒ ตัวจากที่เลี้ยงไว้ ๓๒​ ตัว แต่ไก่ทั้งฝูงต้องถูกทำลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค นอกจากนั้น ฝรั่งเศสได้ดำเนินแผนการรับมือ กับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพสัตว์ในทันที โดยกำหนดให้พื้นที่ ๓​ กิโลเมตรรอบจุดที่พบไก่เสียชีวิตเป็น เขตป้องกันโรค (protection zone) และพื้นที่ห่างออกไป ๑๐ กิโลเมตรเป็นเขตเฝ้าระวังโรค (surveillance zone) ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งของมาตรการติดตามการแพร่ระบาดของโรคทั้งสัตว์ปีกในฟาร์ม และนกตามธรรมชาติ
๒. การตรวจพบโรคไข้หวัดนกในฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นกรณีแรกในรอบ ๗ ปี โดยพบครั้งสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นเป็ดในฟาร์มติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรงต่ำ (low pathogenic avian influenza : LPAI) ส่งผลให้มีการทำลายเป็ดในฟาร์มรวมทั้งหมด ๙,๐๐๐ ตัว แต่ฝรั่งเศสก็สามารถควบคุมโรคได้และ ไม่พบการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ใกล้เคียงหลังจากนั้น
สำหรับเชื้อไข้หวัดนกที่พบในฝรั่งเศสล่าสุดเป็นสายพันธุ์ H5N1 ที่มีความรุนแรงสูง (highly pathogenic avian influenza : HPAI) ซึ่งเคยแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียมาก่อน ทำให้มีสัตว์ปีกหลาย ล้านตัวถูกทำลายและมีรายงานการติดเชื้อสู่มนุษย์ ประเทศสมาชิก EU ที่เคยตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกชนิด รุนแรงเมื่อเร็วๆนี้ คือ ประเทศบัลแกเรีย (พบในสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มและนกป่า) และประเทศโรมาเนีย (พบเฉพาะในนกป่า) แจ้งพบเมื่อเดือน มี.ค. ๕๘  
 ถึงแม้ว่าสาเหตุของการพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกในฝรั่งเศสครั้งล่าสุดจะยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่คาดว่าน่าจะติดมาจากนกป่า โดยสร้างความเสียหายไม่มากนักเพราะเป็นเพียงไก่ฝูงเล็กที่เลี้ยงไว้ตาม บ้านและไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตที่มีฟาร์มสัตว์ปีกหนาแน่น  แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศส (นาย Stéphane Le Foll) ได้ออกมาย้ำว่า “เชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่สู่คนผ่านทางการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกหรือ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก (เช่น ไข่ไก่, ตับห่าน ฯลฯ) ผู้บริโภคจึงไม่จำเป็นต้องกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจเกิด ขึ้น” ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันผู้บริโภคตื่นตระหนกกับข่าวที่ออกมา
๓. จังหวัด Dordogne ในประเทศฝรั่งเศส แม้จะไม่ใช่เขตที่มีฟาร์มเลี้ยงไก่ตั้งอยู่หนาแน่น แต่ก็เป็นแหล่งผลิตตับห่านหรือฟัวกราส์ (foie gras) ที่สำคัญของประเทศ โดยฟัวกราส์เป็นสินค้าเกษตรที่ สร้างรายได้ให้กับประเทศฝรั่งเศสราวปีละ ๒,๑๐๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ข่าวการตรวจพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนก ในช่วงใกล้เทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี จึงคาดการณ์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคฟัวกราส์ปีนี้  
                 นอกจากนั้น หลังจากข่าวการตรวจพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกในประเทศฝรั่งเศสเผยแพร่ออก มาเพียงแค่ไม่กี่วัน หลายประเทศเริ่มเข้มงวดกับสินค้าสัตว์ปีกที่นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ ประเทศ เกาหลีใต้สั่งระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกจากฝรั่งเศสชั่วคราว (ยกเว้น อาหารที่ผ่าน การแปรรูปด้วยความร้อน) ประเทศอียิปต์สั่งกักเป็ดที่นำเข้าจากฝรั่งเศส ๓๐,๐๐๐ ตัวที่สนามบิน เพื่อ ป้องกันความเสี่ยงจากการนำเชื้อไวรัสเข้ามาในประเทศ และฮ่องกงสั่งระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกจากพื้นที่ตรวจพบโรค

ความเห็นและข้อสังเกต
ก) การตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศฝรั่งเศส เป็นข่าวใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ผลกระทบที่แท้จริงจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ปัจจุบันแม้มีเพียงไม่กี่ ประเทศที่สั่งระงับการนำเข้าเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกจากประเทศฝรั่งเศสในทันที  แต่หากสัตว์ปีกที่ ตายเนื่องจากติดเชื้อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือพบการแพร่กระจายออกไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ก็อาจส่งผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกและการส่งออกของประเทศฝรั่งเศสอย่างรุนแรง
ข) ประเทศฝรั่งเศสผลิตสัตว์ปีกได้มากเป็นอันดับ ๒ แต่เป็นผู้ส่งออกมากอันดับ ๑ ของ EU โดยในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ย. ๕๘ การส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกของฝรั่งเศสไป ประเทศที่สาม มีปริมาณรวมทั้งหมด ๒๔๕,๕๐๐ ตันหรือคิดเป็นสัดส่วน ๒๒% เทียบกับการส่งออกสินค้า สัตว์ปีกทั้งหมดของ EU[1]  โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย (๑๐๔,๐๐๐​ ตัน) เบนิน (๒๖,๐๐๐ ตัน) และแอฟริกาใต้ (๒๐,๐๐๐ ตัน) ตามลำดับ
     สำหรับฮ่องกงเป็นตลาดที่สำคัญอันดับ ๑ ในเอเชีย โดยฝรั่งเศสส่งออกเนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกมาฮ่องกงรวม ๖,๘๐๐ ตันในช่วง ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๕๘ ในขณะที่การส่งออก สัตว์ปีกมีชีวิตและเนื้อสัตว์ปีกแช่เย็นแช่แข็งไปอียิปต์มีปริมาณ ๑,๕๕๐ ตัน และเกาหลีใต้ ๖๔ ตันเท่านั้น คำสั่งระงับการนำเข้าของทั้งสองประเทศหลังจึงส่งผลกระทบต่อฝรั่งเศสไม่มากนัก



[1] สถิติจาก EUROSTAT พบว่าการส่งออกเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกของสหภาพยุโรป (พิกัดศุลกากร 0105, 0207, 0210 และ 1602) ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ย. ๕๘ มีปริมาณรวมทั้งหมด ๑.๑๒ ล้านตัน โดยประเทศสมาชิก EU ที่เป็นผู้ส่งออกที่สำคัญ ๓ อันดับแรก คือ ฝรั่งเศส (๒๒%) เนเธอร์แลนด์ (๒๐%) และโปแลนด์ (๑๒%)  ตามลำดับ

โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น