“สารกันบูด” , “สารกันเสีย” หรือ "วัตถุกันเสีย" เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เติมในอาหาร เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายจุลินทรีย์ที่จะทำให้อาหารเน่าเสียและช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร
สารกันบูดในเมืองไทยมีอะไรบ้าง
สารกันบูดตามประกาศกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ.2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มของกรดอ่อนและเกลือของกรดอ่อน (acid and its salts) นิยมใช้กันมากในระดับอุตสาหกรรม เพราะมีความเป็นพิษน้อยและละลายน้ำได้ดี สารกันบูดในกลุ่มของกรดอ่อน ได้แก่ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก กรดโปรปิโอนิก ที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ กรดฟอร์มิก และกรดอะซีติก ที่ให้ความเปรี้ยว ส่วนเกลือของกรดอ่อน ได้แก่ โซเดียมซอร์เบต โพแทสเซียมซอร์เบต โซเดียมเบนโซเอต โพแทสเซียมเบนโซเอท และโซเดียมอะซีเตท ซึ่งมีประสิทธิภาพดี ในอาหารที่มีความเป็นกรดสูง หรือมีค่า pH ต่ำ อนุญาตให้ใส่ในอาหารหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง รวมทั้งเครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม
2. กลุ่มของไนเตรตและไนไตรท์ (nitrate and nitrite) นอกจากคุณสมบัติเป็นสารกันบูดแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นสารตรึงสีหรือเรียกง่ายๆ ว่าดินประสิว เช่น โซเดียมไนเตรต โซเดียมไนไตรท์ อนุญาตให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักต่างๆ เช่น แฮม ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง เบคอน หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักที่ผ่านกรรมวิธีบรรจุกระป๋อง
3. กลุ่มของซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulfites and sulfur dioxide) เป็นสารที่ใช้ป้องกันการเกิดสีน้ำตาลอันเป็นผลจากอาหารทำปฏิกิริยากับ ออกซิเจนในอากาศ โดยซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกสี อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์พืชผักผลไม้ชนิดแห้งและแช่อิ่ม ไวน์ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ส่วนกลุ่มของสารประกอบซัลไฟต์ อนุญาตให้ใช้ในพืชผักผลไม้แห้งและแช่อิ่ม ได้แก่ โซเดียมซัลไฟต์ โซเดียมไบซัลไฟต์ โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ และแคลเซียมไบซัลไฟต์
4. กลุ่มอื่นๆ ที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ เช่น ไนซิน ที่ใส่ในชีสบางชนิด โพรพิลพาราเบน เมทิลพาราเบน เอทิลพาราเบน ที่ใช้เฉพาะในแยมและเยลลี่ ไพมาริซิน ใช้เฉพาะที่ผิวของเนยแข็ง และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักเกลือที่ผ่านหรือไม่ผ่านความร้อน
อาหารชนิดใดที่เต็มไปด้วยสารกันบูด
อาหารที่มักมีสารกันบูดเพื่อยืดอายุการบริโภค ได้แก่ อาหารที่มีปริมาณน้ำอิสระ (water activity) สูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยเฉพาะเส้นสด เช่น เส้นเล็กและเส้นใหญ่ ขนมจีน วุ้นเส้น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่บางชนิด ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ทั้งลูกชิ้น หมูยอ ไส้กรอก ผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้ เช่น ผักผลไม้ดอง พริกแกง เครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น
หากจะกล่าวว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดทั้งชนิดสด แห้ง หรือบรรจุกระป๋อง ล้วนผ่านกระบวนการป้องกัน หรือชะลอการเน่าเสียมาแล้วทั้งสิ้นก็ย่อมได้ แต่ใช่ว่าหมูยอทุกยี่ห้อจะมีสารกันบูด ไม่ได้หมายความว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวทุกเจ้าจะปนเปื้อนสารเคมี หรือแม้แต่อาหารทุกกระป๋องก็ไม่ได้มีวัตถุกันเสีย เพราะในผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีขั้นตอนการผลิต ฆ่าเชื้อและบรรจุภัณฑ์สะอาดได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้อง ใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุอาหารแต่อย่างใด
อันตรายจากสารกันบูด
สารกันบูดแต่ละชนิดที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เนื่องจากผ่านการทดสอบทางด้านพิษวิทยาและการประเมินความปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าอาหารที่คุณซื้อใส่สารกันบูดในปริมาณที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับชนิดอาหาร แม้สารกันบูดบางชนิดจะระเหยได้เมื่อผ่านความร้อน แต่การบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายขับออกไม่ทัน กลายเป็นสารพิษตกค้างสะสมและนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. Thai_คุณภาพหรือมาตรฐานของวัตถุเจือปนอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ.2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร
เงื่อนไขการใช้ (กำหนดชนิดอาหารและปริมาณการใช้)ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4)
2. USA_Food additives and color additives that are listed in FDA regulations (21 CFR Parts 172, 173 and Parts 73, 74 respectively), and flavoring substances evaluated by FEMA* and JECFA*.
-Generally Recognized as Safe ("GRAS") substances that are listed in FDA regulations (21 CFR Parts 182 and 184).
-Substances approved for specific uses in foods (21 CFR Part 181).
3. Codex_GENERAL STANDARD FOR FOOD ADDITIVES
CODEX STAN 192-1995 Adopted in 1995. Revision 2018
4. Regulation (EC) No 1333/2008 of the European Parliament and of the Council of 16 December 2008 on food additives
ที่มาบางส่วนจาก ศูนย์วิทยบริการ อย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น