วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ไขข้อข้องใจจากอย. : ประเด็นชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 (ไขมันทรานส์)

ประเด็นชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้

คำสำคัญ: ประกาศฯ ฉบับนี้

“ห้ามการผลิต นำเข้า จำหน่าย PHOs ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ แต่มิได้ห้ามตรวจพบไขมันทรานส์ในอาหาร”

1. ไขมันทรานส์ คืออะไร

      ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน

ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย
ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น

2. อาหารที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation)

เนยเทียม (Margarine) และเนยขาว (Shortening)
ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี และคุกกี้ เป็นต้น
อาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะสัมผัสที่ดี กรอบนอก นุ่มใน และมีสีเหลืองน่ารับประทาน เช่น โดนัททอด
      ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้น เมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) แล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน
      ดังนั้น ผู้บริโภคควรอ่านรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญที่ระบุไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งฉลากโภชนาการ ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภค

3. อันตรายจากไขมันทรานส์

      ไขมันทรานส์ให้ผลร้ายกว่ากรดไขมันอิ่มตัว คือ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ไขมันชนิดเลว (LDL-Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพิ่มขึ้น และมีผลทำให้ระดับไขมันชนิดดี (HDL-Cholesterol) ลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

4. ปริมาณที่สามารถบริโภคได้ต่อวัน


      องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) อย่างไรก็ตาม FAO ยังแนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน

5. ขอบเขตของประกาศกระทรวงสาธารณสุขและการบังคับใช้ 

      ประกาศฯ ฉบับนี้ มีขอบเขตการบังคับใช้กับน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) และอาหารที่มีน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ (Fully hydrogenation) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์
       ประกาศฯ ฉบับนี้ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ แต่มิได้ห้ามตรวจพบไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร

6. วันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ

      ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562เป็นต้นไป

7. กรณีผลิตอาหารเพื่อการส่งออกเท่านั้น สามารถใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบได้หรือไม่

      เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 388 พ.ศ.2561เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มิได้มีข้อยกเว้นสำหรับกรณีการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้น กรณีผลิตอาหารที่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเพื่อการส่งออก จึงไม่สามารถกระทำได้ ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฎชัดเจนเกี่ยวกับผลร้ายของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ ดังนั้นอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออกจึงไม่ควรมีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเช่นกัน

8. การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้ประกอบการมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารของตนว่าต้องไม่มีการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ

ผู้ผลิตน้ำมันและไขมัน ต้องปรับกระบวนการผลิตน้ำมันและไขมันโดยไม่ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และต้องมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ผู้ซื้อหรือผู้ใช้มั่นใจได้ว่ามิได้ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจออกใบรับรองกระบวนการผลิต (Letter of Confirmation) ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis)
ผู้นำเข้าน้ำมันและไขมัน ต้องมั่นใจได้ว่าน้ำมันและไขมันที่นำเข้ามิได้ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรองกระบวนการผลิต (Letter of Confirmation) ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) จากผู้ผลิตต่างประเทศ
ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องปรับสูตรผลิตภัณฑ์โดยเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร ต้องเป็นส่วนประกอบที่ไม่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรองกระบวนการผลิต (Letter of Confirmation) ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) ของวัตถุดิบที่ใช้จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าน้ำมันและไขมัน
ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมั่นใจได้ว่าอาหารที่นำเข้ามิได้มีส่วนประกอบของน้ำมันและไขมันที่ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรอง (Letter of Confirmation) เกี่ยวกับสูตรส่วนประกอบ กระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบที่ใช้จากผู้ผลิตต่างประเทศ
ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น เนยเทียม หรือเนยขาว ต้องมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่จำหน่ายมิได้ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรองกระบวนการผลิต (Letter of Confirmation) ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบนั้น
ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายไม่มีส่วนประกอบที่มีน้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยอาจขอใบรับรองเกี่ยวกับสูตรส่วนประกอบ กระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ

9. การกำกับดูแล ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่อาจมีการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหลังจากที่ประกาศฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

      สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า หรือสถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐาน เช่น สูตรส่วนประกอบ กระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) ของวัตถุดิบที่ใช้ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ดังนั้น หลังจากที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน

10. การดำเนินการตามกฎหมาย กรณีตรวจพบการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในผลิตภัณฑ์อาหาร

      ผู้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหาร ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ หากฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(8) จะมีโทษตามมาตรา 50 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท

11. ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่แหล่งที่มาต้องไม่ใช่จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน

      ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส นอกจากนี้ น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธีที่ทำให้บริสุทธิ์ (Refined edible oils) หรือน้ำมันพืชบรรจุขวด ซึ่งอาจผ่านกรรมวิธีที่ใช้อุณหภูมิสูงจนทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้นได้ แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
      ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว เป็นประกาศฯ ที่กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ทั้งนี้ มิได้กำหนดห้ามพบไขมันทรานส์ในอาหารแต่อย่างใด ดังนั้น ควรต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานในเบื้องต้นว่า ไขมันทรานส์ที่ตรวจพบในอาหารนั้นมาจากแหล่งใด เช่น ตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบที่ใช้และกรรมวิธีการผลิตวัตถุดิบ คุณภาพมาตรฐานของวัตถุดิบ สูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น หากพบว่ามีการใช้น้ำมันและไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

12. การสื่อสารประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับไขมันทรานส์แก่ผู้บริโภค

ให้แสดงข้อความ “ปราศจากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” “No partially hydrogenated oils that is the main source of trans fat” ในสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ เช่น ป้ายติดหน้าร้าน ตู้หรือชั้นแสดงสินค้า สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
แสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบข้อมูลโภชนาการเท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์การปัดตัวเลขเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว
เช่น



13. สามารถแสดงข้อความกล่าวอ้าง “ปราศจากไขมันทรานส์” บนฉลากอาหารได้หรือไม่

      ปัจจุบันยังไม่สามารถแสดงข้อความกล่าวอ้าง “ปราศจากไขมันทรานส์” ได้ (อันนี้ต้องระวังนะคะ เห็นผู้ประกอบการหลายรายประกาศหน้าชั้นขายสินค้าแล้ว)เนื่องจากขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการกล่าวอ้างปริมาณของไขมันทรานส์ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์การกล่าวอ้างไขมันทรานส์ โดยกำหนดเงื่อนไขควบคู่กับปริมาณไขมันอิ่มตัวต้องต่ำด้วย จึงจะแสดงข้อความกล่าวอ้างดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถแสดงปริมาณไขมันทรานส์ให้ผู้บริโภคทราบได้ในกรอบข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว

14. การใช้ข้อความ “ปลอดภัยจากไขมันทรานส์” ได้หรือไม่

       ไม่ได้ เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาหารต้องปราศจากไขมันทรานส์เท่านั้นจึงจะปลอดภัย โดยแท้ที่จริงแล้ว ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวในอาหารด้วย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารสามารถตรวจพบไขมันทรานส์ได้ แม้ว่าจะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) และปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน

15. น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธี (Refined edible oil / Refined cooking oil) เป็นแหล่งของไขมันทรานส์จริงหรือไม่

       น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธี คือ น้ำมันที่ได้จากการนำพืชน้ำมัน เช่น ผลปาล์ม เมล็ดถั่วเหลือง มาสกัดจนได้เป็นน้ำมันดิบ จากนั้นนำมาผ่านกรรมวิธีกำจัดยาง สี กลิ่น สิ่งเจือปน และกรดไขมัน จนได้เป็นน้ำมันบริโภคที่บริสุทธิ์ กระบวนการเหล่านี้เป็นที่มาของคำว่า “ผ่านกรรมวิธี” ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องหรือใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) แต่อย่างใด ดังนั้น น้ำมันบริโภคผ่านกรรมวิธีจึงมิได้เป็นแหล่งของไขมันทรานส์

16. น้ำมันทอดซ้ำที่ใช้หลายๆ ครั้ง มีไขมันทรานส์เกิดขึ้นจริงหรือ?

       มีงานวิจัยที่ทดสอบการใช้น้ำมันทอดซ้ำต่อการเกิดไขมันทรานส์ พบว่า น้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำหลายครั้ง ตรวจพบไขมันทรานส์ แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก ดังนั้น น้ำมันทอดซ้ำจึงมิใช่เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ แต่อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำที่ควรคำนึงถึงเป็นสำคัญ คือ สารก่อมะเร็ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ.2547 เรื่อง กำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 347) พ.ศ.2555 เรื่อง วิธีการผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ในการกำกับดูแล 

17. อาหารที่มีส่วนประกอบของเนยเทียม (Margarine) หรือเนยขาว (Shortenings) ยังคงสามารถรับประทานได้หรือไม่

       อาหารที่มีส่วนประกอบของเนยเทียม หรือเนยขาว ผู้บริโภคยังคงสามารถรับประทานได้ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน

18. วิธีการวิเคราะห์ และห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ไขมันทรานส์

       วิธีการตรวจวิเคราะห์ไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารต้องเป็นวิธีที่มีมาตรฐานอ้างอิงและน่าเชื่อถือ เช่น AOAC 996.06 นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการที่ตรวจวิเคราะห์ไขมันทรานส์ต้องเป็นห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือหน่วยงานที่มีการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพหรือเทียบเท่า ISO/IEC 17025

หมายเหตุ: ข้อมูลปรับปรุงวันที่ 24 กรกฎาคม 2561

19. เคล็ดลับสำหรับผู้บริโภคในการหลีกเลี่ยงบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์

   1. ผู้บริโภคจึงควรตรวจฉลากโภชนาการ ดูส่วนประกอบอาหารและฉลากโภชนาการในส่วนของกลุ่มไขมัน หลีกเลี่ยงทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์

   2. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ฉลากระบุว่า Partially Hydrogenated Oil หรือ ระบุว่า มี Hydrogenated Oil เป็นส่วนผสม เพราะแสดงว่าอาหารชนิดนั้นมีปริมาณไขมันทรานส์ที่เกิดจากการนำน้ำมันมาผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils, PHOs) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หากบริโภคมากเกินไป

   3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของเนยเทียมหรือมาร์การีน เนยขาว ซึ่งจะแฝงมาในอาหารประเภท ฟาสต์ฟู้ด และเบเกอรี่ นักโภชนาการจึงแนะนำให้รับประทานแต่น้อย เพราะเนยมีไขมันอิ่มตัวสูง ส่วนมาร์การีนมีไขมันชนิดทรานส์ มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่ม ตับทำงานผิดปกติ และเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด 
 
   4. ลดการกินเนื้อสัตว์ติดมัน เลือกรับประทานปลา ที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 แทน จะดีต่อสุขภาพที่สุด และเน้นการกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มเส้นใยให้ร่างกาย ทำให้ระบบเผาผลาญและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   5. เลือกใช้น้ำมันพืชอย่าง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก จะดีต่อสุขภาพมากกว่า เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวมีมากในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก เป็นต้น ซึ่งกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายคือกรดไขมันไม่อิ่มตัวนี้เอง


ที่มา สำนักอาหาร อย. , สสส. , www.salika.co 
รูปภาพ จาก obesityhelp.com , ozonnews.com

Link อ่าน ebook คู่มือคุณภาพ วิธีทำระบบคุณภาพต่างๆฟรี_1

ให้ click ตรงคำว่า full text ในแต่ละ Link นะคะ แล้วก็จะได้อ่านหนังสือฟรีๆ โชคดีก็ได้ไฟล์เลย
แต่อย่างว่า พอเป็นหนังสือจริง การ update จะล่าช้ากว่าอ่านจาก web นะคะ

1. คู่มือการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร กรณีไม่เข้าข่ายโรงงานและการขอแก้ไขสถานที่ผลิตอาหาร

2. คู่มือการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย (ที่ไม่ข่ายโรงงาน) ตามมาตรฐานการผลิตขั้นต้น หรือ Primary GMP

3. คู่มือการขออนุญาตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Primary GMP)

4.คู่มือการดำเนินงานอาหารปลอดภัยจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ

5. คู่มือการตรวจสถานที่ฉายรังสีอาหาร และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการฉายรังสีอาหาร

6. คู่มือการตรวจสถานที่ผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่2)

7. คู่มือการตรวจสถานที่ผลิตน้ำแข็ง ตามหลักเกณฑ์ GMP สุขลักษณะทั่วไป

8. คู่มือการตรวจสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ตามหลักเกณฑ์ GMP สุขลักษณะทั่วไป

9. คู่มือการตรวจสอบสถานที่ผลิตไอศกรีม

10. คู่มือการตรวจสถานที่ผลิตอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

==================================================================

I.m a Researcher not Auditor


วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Update Food Law_Thai : คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย 
   

Update Law USDA : ฉลากโภชนาการ(Nutrition Facts) และกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วของอเมริกา

         องค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration - USFDA) ได้ประกาศปรับปรุงรูปแบบฉลากโภชนาการอาหาร (Nutrition Facts Label) ใหม่ ซึ่งจะ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ในการปรับปรุงรายละเอียด มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ฉลากใหม่จะเพิ่มขนาดตัวอักษรให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็นตัวเข้มสำหรับรายละเอียดโภชนาการที่สำคัญ ได้แก่ แคลอรี่ (Calories),หน่วยบริโภค (Serving Size) และจำนวนการบริโภคต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ (Serving per Container) และได้กำหนดให้ผู้ผลิตแจ้งปริมาณวิตามินดี และโปรแตสเซียมที่ได้รับจากอาหารเป็นปริมาณที่ควรได้รับในหนึ่งวัน เนื่องจากชาวอเมริกันมีแนวโน้มขาดวิตามินดี ส่วนวิตามินเอและวิตามินซีผู้ผลิตสามารถระบุไว้บนฉลากได้ตามความสมัครใจ แคลเซียม และธาตุเหล็กถูกกำหนดให้คงไว้บนฉลากตามเดิม ส่วนการผสมน้ำตาลในอาหาร (Added Sugars) ฉลากต้องแสดงรายละเอียดปริมาณการผสมน้ำตาลในอาหารเป็นกรัมและปริมาณ %DV(the % daily value ) และกำหนดให้ระบุประเภทของไขมัน (Type of Fat) แทนปริมาณไขมันด้วย


       กฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขหน่วยบริโภค (Serving Size) ให้เป็นไปตามปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคบริโภคตามความเป็นจริง จากเดิมที่กำหนดจากปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่ควรบริโภค โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาลักษณะนิสัยการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของคนอเมริกันเป็นมาตรฐาน ตัวอย่างการกำหนดหน่วยบริโภค (Serving Size) ที่เปลี่ยนไปชัดเจน คือ การบริโภคน้ำอัดลม จากเดิมหน่วยบริโภค (Serving Size) กำหนดไว้ที่ 8 ออนซ์ (oz) ได้ถูกแก้ไขใหม่เป็น 12 ออนซ์ (oz) อาหารและเครื่องดื่มที่มี บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ สามารถบริโภคได้ 1 – 2 คน การกำหนดรายละเอียดหน่วยการบริโภค (Serving Size) บนฉลากโภชนาการให้กำหนดเป็นหนึ่งหน่วยบริโภค เพราะโดยปกติแล้วชาวอเมริกันหนึ่งคนสามารถบริโภคให้หมดได้ภายในครั้งเดียว กรณีอาหารและเครื่องดื่มที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณมากกว่าหนึ่งหน่วยการบริโภค แต่สามารถบริโภคหมดได้ด้วยหนึ่งคนหรือหลาย ๆ คน กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงรายละเอียดทั้งสองแบบคือ ปริมาณต่อหนึ่งหน่วยการบริโภค (Serving Size) และปริมาณต่อหนึ่ง บรรจุภัณฑ์ (Serving per Container) ในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จะขยายเวลาจำนวนหนึ่งปีให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มียอดขายต่อปีไม่เกินกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

 ตัวอย่างรูปแบบฉลากโภชนาการ






















https://www.fda.gov/Food/GuidanceRegulation/GuidanceDocumentsRegulatoryInformation/LabelingNutrition/ucm385663.htm#formats

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ถ่านไม้ธรรมดา(Charcoal) ไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพ(Biochar) และ ถ่านกัมมันต์(Activated carbon)

ถ่านไม้ธรรมดา(Charcoal) ไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพ(Biochar) และ ถ่านกัมมันต์(Activated carbon) เป็นสิ่งมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มหาศาล ทั้งสามอย่างล้วนได้มาจากการนำไม้ วัสดุการเกษตร วัสดุที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักไปเผาในสภาพที่มีการควบคุณให้อุณหภูมิ และปริมาณอ๊อกซิเจนที่ใช้ แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับ ประมาณ 400 – 900 องศาเซลเซียส ทำให้ได้ผลผลิตคือถ่านที่มีรูพรุนขนาดเล็ก/กลาง/ใหญ่จำนวนมากมายแตกต่างกันไป รายละเอียด เปรียบเทียบแสดงในตารางด้านล่าง




ถ่านธรรมดา (Charcoal)


       Charcoal , ถ่านไม้(Coal) เป็นคาร์บอนประเภทนึง ชนิดที่เกิดจากการเผา(Charring)แบบไม่ได้ให้หมด แบบเผาถ่าน สารอื่นยังเหลืออยู่มาก เกาะกันปิดโครงสร้างจึงทึบแน่น คาร์บอนยังเปิดผิวน้อย
      นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้วเรายังใช้เป็นสารดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ ใช้สำหรับการกรองต่าง ๆ ใช้เป็นเชื้อเพลิงอาหารและในไทยเราใช้ทำอาหารอย่างขนมเปียกปูนด้วย

ถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) 


         Activated Charcoal หรือ Activated Carbon (ถ่านกัมมันต์) เป็นยาใช้รักษาผู้ที่ได้รับพิษหรือยาบางชนิดเกินขนาด ได้จากถ่านที่ถูกเผาด้วยความร้อนสูงจนสารอื่นสลายตัวเป็นก๊าซออกไปเกือบหมด การ Activation จะทำให้ตัวเนื้อถ่าน บางส่วนสลายตัว เกิดเป็นรูพรุนมากขึ้นพื้นที่ผิวก็จะมากขึ้น ทำให้สามารถดูดซับได้มาก มีการใช้งานในอุตสาหกรรม และ ใช้เป็นวัสดุทางยา เช่น บรรเทาอาการปวดมวนท้องที่เกิดจากจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารกันอย่างแพร่หลาย

ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar)


 มีการใช้ในการเกษตรอย่างกว้างขวาง โดยเน้นที่สมบัติความมีรูพรุนจึงช่วยในการพลิกฟื้นดินที่เสื่อมโทรม เป็นดินตายขาดสิ่งมีชีวิตในดิน รูพรุนในไบโอชาร์ที่ผสมกับดินจะเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ซึ่งจะช่วยดึง/ปรับธาตุอาหารพืชให้ มากขึ้นอีกทั้งที่ยังช่วยปรับสมบัติทางกายภาพ และ ดูดซับปุ๋ยไว้ได้ดีขึ้น ประโยชน์ที่ปุ๋ยอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ก็คือ ช่วยลดปัญหาโลกร้อนเพราะรูพรุนเหล่านี้จะกักเก็บสารประกอบคาร์บอน อาทิ มีเทน ฯลฯ ไว้ในดินแทนที่จะตกค้างอยู่ในอากาศ ที่สำคัญ ไบโอชาร์นี้ เกษตรกรสามารถผลิตได้เองจาก วัสดุการเกษตรที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วในไร่นา ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ต่าง ๆ นำมาเผาตามวิธีการที่มีผู้แนะนำไว้ ช่วยลดปริมาณ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งเกิดจากการทิ้งวัสดุเหล่านี้ให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติ และ เนื่องจากมันมีลักษณะเป็นผงละเอียดจึงต้องระวังการสูดเข้าไปในร่างกายด้วย


    นอกจากนี้การใช้ประโยชน์เหล่านี้ ต้องปรับให้สอดคล้องตามสถานการณ์และบริบทของแต่ละแห่ง จึงจำเป็นต้องศึกษาทดลองจนกว่าจะได้สภาวะการใช้งานที่เหมาะสม

ที่มาเนื้อหาและรูปจาก stemforlife , wikipedia , bbcgoodfood ,leaf.tv , doityourself , google

คำแนะนำในการอ่านฉลากเพื่อตรวจสอบปริมาณ Trans fat และ การอ่านฉลากอาหาร

 


คำแนะนำในการอ่านฉลากเพื่อตรวจสอบปริมาณ Trans fat
1. อ่านดูส่วนประกอบอาหาร ถ้าหากคุณเห็น “partially hydrogenated vegetable oil” หรือ “partially hydrogenated vegetable shortening” , Shortening, Hydrogenated margarine อยู่ด้านบน เชื่อได้แน่ว่ามี Trans fat ประกอบอยู่มากด้วย แต่ถ้าเขียนอยู่ด้านล่าง ก็จะมี Trans fat น้อยลง
2. ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่ามี Trans fat ในเนยเทียม (Margarine) เนยขาว (Shortenings) ของทอดและขนมทานเล่น ขนมพาย คุกกี้ แครกเกอร์
3. อย่าปล่อยให้โดนหลอกตาด้วยขนาดรับประทาน ที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงเล็กน้อย เช่น ป๊อปคอร์นขนาด 1 ถ้วย
4. คำนวณทั้งฉลากโดยเฉพาะข้อมูลปริมาณของไขมันทุกชนิด ทั้ง saturated fats, monosaturated fats และ polyunsaturated fats ถ้าบวกรวมกันแล้วไม่ได้ตัวเลขตรงตามส่วนที่ระบุว่าเป็น total fats แล้วคุณก็ควรจะรู้ได้เองว่าส่วนต่างที่หายไป นั่นคือ Trans fat
5. สินค้าที่ระบุว่ามีไขมันทั้งหมด Total fat ต่ำค่อนข้างที่จะมี Trans fat น้อยตามกันด้วย
6. อาจต้องระวังการบริโภคอาหารที่ถึงแม้จะบอกว่ามี low saturated fat เพราะไม่แน่ว่ามันยังจะมี Trans fat อยู่บางส่วน
7. ฉลากที่บอกว่ามี saturated fat free ไม่ใช่ว่าไม่มี Trans fat และ saturated fat เลยหรอก มีค่ะ แต่มี Trans fat ที่น้อยกว่า 0.5 กรัม และมี saturated fat ที่น้อยกว่า 0.5 กรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
8. ถ้าอยากจะรับประทานเนยเทียม ก็ควรเลือก เนยเทียมเหลว แทน เนยเทียมแข็ง

การอ่านฉลากอาหาร (ฉลากโภชนาการ-Nutrition Facts)
การอ่านฉลากอาหารเป็นกุญแจสำคัญในการคุมอาหารให้ได้ผล ฉลากอาหารแสดงข้อมูลสารอาหาร (Nutrition Facts) จากอาหารนั้นๆภายในหนึงหน่วยบริโภคที่กำหนดโดยมีรูปแบบเป็นสากล ซึ่งช่วยเป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจว่าเราควรทานอาหารนั้นๆหรือไม่ มีวิธีการอ่านค่าตามตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างการอ่านค่าฉลากอาหาร
ตัวอย่างการตั้งค่าฉลากอาหาร

วิธีการอ่านค่าฉลากอาหาร

เรียงลำดับจากบนลงล่างเทียบกับอาหารตัวอย่างคือ กาแฟเย็นลาเต้ Starbuck
✔️ = ค่านี้สำคัญ,  = ควรหลีกเลี่ยง, ✖️ = ควรงด
  1. ✔️Serving Size (หน่วยบริโภค)

    อยู่ส่วนบนของฉลาก ใช้แสดงข้อมูลหน่วยบริโภคซึ่งปริมาณสารอาหารที่แสดงในตารางคือสารอาหารที่ได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคนี้ จากตัวอย่างหน่วยบริโภคคือ Tall(12oz)
  2. ✔️Calories (แคลอรี่)

    แสดงปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภค จากตัวอย่างพลังงานที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 100 แคลอรี่
  3. Calories from Fat (แคลอรี่จากไขมัน)

    แสดงปริมาณพลังงานที่ได้รับจากไขมันต่อหนึ่งหน่วยบริโภค จากตัวอย่างพลังงานที่ได้รับจากไขมันของกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 32 แคลอรี่
  4. ✔️Total Fat (ไขมันรวม)

    แสดงปริมาณไขมันรวมหน่วยเป็นกรัมทางด้านซ้ายพร้อมกับร้อยละเทียบกับค่าแนะนำต่อวันทางด้านขวา* จากตัวอย่างไขมันรวมที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 3.5 กรัม หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณไขมันที่แนะนำต่อวัน
  5. Saturated Fat (ไขมันอิ่มตัว)

    Saturated Fat เป็นไขมันอิมตัวที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้ระดับ cholesterol ในเลือดสูง
    แสดงปริมาณไขมันอิ่มตัวชนิด Saturated หน่วยเป็นกรัมทางด้านซ้ายพร้อมกับร้อยละเทียบกับค่าแนะนำต่อวันทางด้านขวา* จากตัวอย่างไขมันอิ่มตัว Saturated ที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 2 กรัม หรือคิดเป็น10% ของปริมาณไขมันที่แนะนำต่อวัน
  6. ✔️Polyunsaturated and Monounsaturated Fat (ไขมันไม่อิ่มตัว)

    เป็นไขมันไม่อิมตัวชนิดดี
    แสดงปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวหน่วยเป็นกรัมทางด้านซ้าย จากตัวอย่างไขมันไม่อิ่มตัวที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือไม่ระบุ
  7. ✖️Trans Fat (ไขมันอิ่มตัว)

    Trans Fat เป็นไขมันอิมตัวที่สร้างขึ้นจากการเติมไฮโดรเจนลงในไขมันอิ่มตัว ควรงดเพราะส่งผลเสียต่อร่างกาย
    แสดงปริมาณไขมันอิ่มตัว Trans หน่วยเป็นกรัม จากตัวอย่างไขมันอิ่มตัว Trans ที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือไม่ระบุ
  8. ✖️Cholesterol (คลอเรสเตอรอล)

    แสดงปริมาณคลอเรสเตอรอลหน่วยเป็นมิลลิกรัม จากตัวอย่างคลอเรสเตอรอลที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ15 มิลลิกรัม
  9. Sodium (เกลือ)

    เกลือเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการแต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะได้รับมากเกินไป มีค่าแนะนำอยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
    แสดงปริมาณเกลือหน่วยเป็นมิลลิกรัม จากตัวอย่างเกลือที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 80 มิลลิกรัม
  10. ✔️Potassium (โพแทสเซียม)

    โพแทสเซียมมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมายเช่น ช่วยสะสมพลังงานสำหรับกล้ามเนื้อ, มีส่วนช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง, เป็นส่วนสำคัญในการส่งข้อมูลในระบบประสาท ฯลฯ พบมากใน ผักโขม,เห็ด,ถั่ว ฯลฯ
    แสดงปริมาณโพแทสเซียมหน่วยเป็นมิลลิกรัม จากตัวอย่างโพแทสเซียมที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ ไม่ระบุ
  11. ✔️Total Carbohydrate (คาร์โบไฮเดรตรวม)

    แสดงปริมาณคาร์โบไฮเดรตรวมจาก ไฟเบอร์,น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตอื่นๆหน่วยเป็นกรัม จากตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตรวมที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 10 กรัม
  12. ✔️Dietary Fiber (ไฟเบอร์หรือใยอาหาร)

    แสดงปริมาณไฟเบอร์หรือใยอาหารหน่วยเป็นกรัม จากตัวอย่างไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 0 กรัม
  13. Sugar (น้ำตาล)

    น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะสามารถดูดซึมและสะสมเป็นไขมันได้อย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำตาลแนะนำต่อวันของชายไม่ควรเกิน 37 กรัมต่อวัน และหญิงไม่ควรเกิน 25 กรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
    แสดงปริมาณน้ำตาลหน่วยเป็นกรัม จากตัวอย่างน้ำตาลที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 9 กรัม
  14. ✔️Protein (โปรตีน)

    แสดงปริมาณโปรตีนหน่วยเป็นกรัม จากตัวอย่างโปรตีนที่ได้รับจากกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) คือ 6 กรัม
  15. ✔️Vitamin and Mineral (วิตามินและแร่ธาตุ)

    แสดงปริมาณวิตามินและแร่ธาตุหน่วยเป็นร้อยละเทียบจากปริมาณแนะนำต่อวัน*หรือหน่วยอื่นๆ จากตัวอย่างกาแฟเย็นลาเต้ Starbuck ปริมาณ Tall(12oz) มี Vitamin A 6%, Vitamin C 0%, Calcium 25%, Iron 0% และ Caffeine 75มิลิกรัม
  16. * ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนอเมริกันอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไปโดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี่
    ซึ่งปริมาณสารอาหารแนะนำสำหรับคนอเมริกันเทียบกับคนไทยมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในระดับวิตามินปริมาณสารอาหารแนะนำสำหรับคนอเมริกัน
    ปริมาณสารอาหารแนะนำสำหรับคนไทย

    เนื้อหาที่มาจาก web girlsfriendclub และ blog calforlife 
    รูปภาพจากThe Healthful Truth และ medicaldaily

Food Law Update : Trans Fat_ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับบ 388 อาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย

กฎหมายใหม่ประกาศและบังคับใช้ภายใน 180 วัน
ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 
ก็ได้ประกาศว่า ห้ามมีการผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) รวมไปถึงตัวน้ำมันนั้น (ส่วนมากจะมีส่วนผสมของ trans fat)



ผู้ประกอบการที่มีอาหารที่มีส่วนผสมของ ไขมันเทียมที่มี trans fat  เช่น ครีมเทียม เนยเทียม คงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือวัตถุดิบไปพร้อมๆกับจัดการ stock คงเหลือ ใน 180 วัน >_<

ไขมันทรานส์ 0 กรัม (Zero grams of trans fat) ไม่ได้หมายถึงไม่มีไขมันทรานส์ แต่หมายถึงผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (per serving) สามารถแสดงบนฉลากว่ามีปริมาณไขมันทรานส์เป็น 0 กรัมได้ นั่นเท่ากับว่า 
-ผู้ผลิตยังพอมีไขมันทรานส์ในอาหารได้ในปริมาณที่ต้องควบคุม
-ผู้บริโภคก็ต้องตรวจสอบรายการส่วนประกอบซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ได้ทั้งหมด

ประกาศฉบับจริง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/166/5.PDF