เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเห็นชอบการช่วยเหลือผลิตภัณฑ์เนยและหางนมผงผ่านมาตรการการการรับซื้อโดยรัฐ (public intervention) ตาม Council Regulation (EU) 2014/1042 amending Regulation (EU) No 1370/2013 determining measures on fixing certain aids and refunds related to the common organisation of the markers in agricultural products, as regards applicable quantitative limitation for the buying-in of skimmed milk powder โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2559 และมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. สาระสำคัญของมาตรการ
มาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มเพดานให้ ประเทศสมาชิกรับซื้อผลิตภัณฑ์เนยจากเดิม 50,000 ตัน เป็น 100,000 ตัน และผลิตภัณฑ์หางนมผง จากเดิม 218,000 ตัน เป็น 350,000 ตัน ในราคาคงที่ (fixed price)
2. เหตุผลและความจำเป็น
ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์นมใน EU ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 แต่มาตรการอนุญาตให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมร่วมกันกำหนดปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์นม ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหานมล้นตลาด โดยจนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศสมาชิกใดแจ้งใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์จากนมภายใน EU ตกต่ำ โดยเฉพาะเนยและหางนมผง
นอกจากนี้ ความต้องการของตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นยังไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตของ EU และประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เท่าของความต้องการรวมในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หางนมผงซึ่งมีอัตราการส่งออกลดลงร้อยละ 8 ในเดือน เม.ย. 2559 เนื่องจากยังมีราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน จึงมีความจำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมใน EU
3. ผลกระทบต่อประเทศไทย
ราคานำเข้าเนยที่นำเข้าภายใต้พิกัด 04051000 (เนย) รวมทั้งราคานำเข้าหางนมผงที่นำเข้าภายใต้พิกัด 040210 (นมและครีมเป็นผง เม็ด หรือเป็นลักษณะของแข็งอื่นๆ มีไขมันไม่เกินร้อยละ 1.5 โดยน้ำหนัก) อาจมีแนวโน้มลดลง หาก ปท. สมาชิก พยายามระบายผลิตภัณฑ์ที่รับซื้อออกสู่ตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยที่ใช้วัตถุดิบเนยและหางนมผมปรับลดลง อนึ่ง EU เป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์จากนมที่สำคัญของไทย โดยในปี 2558 ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เนย รวม 110 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 ของการนำเข้าทั้งหมด และผลิตภัณฑ์หางนมผงจาก EU รวม 2.6 พันล้านบาท หรือร้อยละ 37 ของการนำเข้าสินค้าหางนมผงทั้งหมด
โดยนัยเดียวกัน มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยเนื่องจากเกษตรกรไทยยังขาดศักยภาพในการแข่งขัน และการผลิตน้ำนมดิบของประเทศไทยยังมีต้นทุนสูง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น