วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

USA Food News_สหรัฐฯประกาศปรับปรุงกฎระเบียบฉลากโภชนาการ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) ได้ประกาศปรับปรุงฉลากอาหาร ให้มีข้อมูลด้านโภชนาที่จำเป็นผู้บริโภคและอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงดังนี้
               1. รูปแบบฉลากโภชนาการใหม่ ที่ทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลที่จำเป็นเพื่อสะดวกต่อการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
                - เพิ่มขนาดตัวอักษรให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเป็นตัวเข้มสำหรับรายละเอียดสารอาหาร เช่น แคลอรี่ (Calories), หน่วยบริโภค (Serving Size) และจำนวนการบริโภคต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ (Serving per Container)
                - กำหนดให้ผู้ผลิตแจ้งปริมาณวิตามินดี และโปรแตสเซียมที่ได้รับจากอาหารเป็นปริมาณที่ควรได้รับในหนึ่งวัน (the % daily value - %DV) เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาการขาดสารอาหารของผู้บริโภคสหรัฐฯในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผู้ผลิตสามารถระบุวิตามินเอและวิตามินซีไว้บนฉลากได้ตามความสมัครใจ ในส่วนแคลเซียมและธาตุเหล็ก กำหนดให้คงไว้บนฉลากตามเดิม
                - เพิ่มค่าอธิบายของปริมาณที่แนะนำต่อวันต่อหนึ่งหน่วยการบริโภค (%DV) ซึ่งจะอยู่ด้านบนของฉลากโภชนาการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคในแต่ละวัน เช่น ฉลากสินค้าแสดงแคลเซียม 20%DV คือในหนึ่งหน่วยบริโภคมีแคลเซียม 20% ที่ร่างกายต้องการต่อวัน
                - การผสมน้ำตาลในอาหาร (Added Sugars) ฉลากต้องแสดงรายละเอียดปริมาณการผสมน้ำตาลในอาหารเป็นกรัมและปริมาณ %DV
                - ยกเลิกการใส่ข้อมูลปริมาณแคลอรี่จากไขมัน (Calories from fat) เนื่องจากประเภทของไขมัน (Type of Fat) มีความสำคัญกว่าปริมาณ
               2. ปรับปรุงแก้ไขหน่วยบริโภค (Serving Size) และข้อกำหนดบนฉลากเฉพาะสินค้าบางขนาด (Labeling Requirement for Certain Package Size)
                - กฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขหน่วยบริโภค (Serving size) ให้เป็นไปตามปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคได้บริโภคตามความเป็นจริง โดยใช้ข้อมูลจากลักษณะนิสัยการบริโภคของชาวอเมริกันเป็นมาตรฐาน
                - อาหารและเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ สามารถบริโภคได้ 1-2 คน กำหนดหน่วยการบริโภค เป็นหนึ่งหน่วยการบริโภค เช่น อาหารประเภท ซุปขนาด 15 ออนซ์ และน้ำอัดลมขนาด 20 ออนซ์
                - กรณีอาหารและเครื่องดื่มที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์มากกว่าหนึ่งหน่วยการบริโภคแต่สามารถบริโภคหมดได้ด้วยหนึ่งคนหรือหลายๆคน กำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงรายละเอียดทั้ง 2 แบบคือ ปริมาณต่อหนึ่งหน่วยการบริโภค (Serving Size) และปริมาณต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ (Serving per Container)
               กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มียอดขายต่อปีไม่เกินกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับการขยายเวลาให้ปรับตัวเพิ่มอีกหนึ่งปี 
 
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สรุปโดย: มกอช. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น