เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 นาย Daniel Rosario โฆษกด้านนโยบายเกษตรของคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้ยกเลิกแผนการเจรจาเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำตาลจำนวน 300,000 ตัน โดยจากข้อมูลปริมาณน้ำตาลของคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงให้เห็นว่า หากไม่มีมาตรการส่งเสริมการนำเข้าปริมาณน้ำตาลเพิ่มเติม ปริมาณน้ำตาลภายใน EU จะลดลงเหลือเพียง 716,000 ตัน ภายในปลายเดือนกันยายน 2559 ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การปฏิรูปน้ำตาลภายใต้กฎระเบียบ Council Regulation (EC) No. 138/2006 ซึ่งส่งผลให้ EU ต้องออกมาตรการเพื่อการบริหารจัดการโควตาการผลิต-นำเข้า-ส่งออกน้ำตาลตั้งแต่ปี 2549 (รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายน้ำตาลของ EU ที่ http://bit.ly/1UCznNj)
อย่างไรก็ดี กฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการโควตาการนำเข้า-ส่งออกน้ำตาล จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยการยกเลิกการเจรจาการเพิ่มการนำเข้าปริมาณน้ำตาลในครั้งนี้ อาจเป็นการเตรียมการรองรับปริมาณการผลิตและการส่งออกของ EU ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่จะปรับลดลง ในขณะที่ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกน้ำตาลไปยัง EU จะต้องปรับตัวกับยอดการสั่งซื้อน้ำตาลที่มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีตลาดการส่งออกหลักอยู่ในทวีปเอเชีย และมีมูลค่ามากถึง 83,108 ล้านบาท ในปี 2558 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาด EU อยู่ที่ 107 ล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยส่งออกน้ำตาลไปยัง EU ในอัตราภาษีนำเข้าที่แพงกว่าหลายประเทศ ที่ได้รับสิทธิส่งออกน้ำตาลแบบปลอดภาษี เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา แคริบเบียนและแปซิฟิก รวมไปถึงประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด
แปลและเรียบเรียงโดย ทีมงาน thaieurope.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น