ตั้งแต่วันที่ 13/12/59 ผู้ส่งออกอาหาร เครื่องดื่ม และร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ให้บริการลูกค้าใน EU ต้องแสดงข้อมูลทางโภชนาการ
กฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากโภชนาการ หรือ Regulation (EU) No 1169/2011 on the provision of food information to consumers (FIC) ซึ่งได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 และเริ่มมีผลบังคับใช้บางส่วนตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2557 บังคับให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายใน EU ทุกชนิดต้องแสดงข้อมูลอาหารอย่างชัดเจนเพื่อการตัดสินใจของผู้บริโภค (รายละเอียดเพิ่มเติม http://bit.ly/1Z5ILKt) โดยข้อบทที่เกี่ยวกับการแสดงข้อมูลทางโภชนาการ (Article 9 (l) – a nutrition declaration) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป
ก่อนกฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กฎระเบียบเดิมซึ่งจัดทำตั้งแต่ปี 2549 กำหนดให้แสดงข้อมูลทางโภชนาการบนพื้นฐานของความสมัครใจ แต่กฎระเบียบใหม่บังคับให้ต้องแสดงข้อมูลทางโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุเสร็จทุกชนิด โดยข้อมูลทางโภชนาการที่ต้องแสดงประกอบด้วย ค่าพลังงาน (Energy Value) และปริมาณสารอาหารแต่ละชนิด แบ่งเป็น ไขมัน ไขมันอิ่มตัว คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล โปรตีน และเกลือ
ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ให้บริการลูกค้าใน EU จะต้องให้ความสำคัญกับการแสดงข้อมูลทางโภชนาการมากขึ้น เนื่องจากกฎระเบียบ FIC บังคับให้ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลทางโภชนาการที่ละเอียดและชัดเจนก่อนการบริโภคทั้งจากร้านค้าและร้านค้าออนไลน์
นอกจากนี้ การบังคับให้แสดงข้อมูลทางโภชนาการ จะส่งผลกระทบต่อการแจ้งรหัสผลิตภัณฑ์สากล (Global Trade Item Number – GTIN) ที่ใช้ในการตรวจสอบหรือติดตามสินค้าระหว่างการขนส่ง เนื่องจาก หากข้อมูลทางโภชนาการมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องกำหนดรหัส GTIN ใหม่ตามไปด้วย ซึ่งผลจากการใส่รหัสผลิตภัณฑ์ผิด จะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถูกเก็บออกจากตลาดทันที
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบ
Regulation (EU) No 1169/2011 on the provision of food information to consumers เพิ่มเติมได้ที่ http://ec.europa.eu/food/safety/labelling_nutrition/labelling_legislation/index_en.htm
แปลและเรียบเรียงโดย ทีมงาน thaieurope.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น