จุดแข็ง
เมียนมาเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรหนาแน่น ประมาณ 58 ล้านคน มีอาณาเขตติดกับจีน อินเดีย บังคลาเทศ ลาว และไทย ทำให้เมียนมาเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ จึงมีความได้เปรียบในการติดต่อทำการค้า การส่งออกและนำเข้า รวมทั้งการส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศต่างๆ นอกจากนี้เมียนมายังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม
โอกาส
การพัฒนาตลาดของเมียนมาในอนาคตอาจจะพัฒนามากขึ้นจากการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และขนาดตลาดที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับตลาดของไทย ซึ่งไทยสามารถใช้เมียนมาเป็นประตูระบายสินค้าสู่ประเทศที่สามได้ รวมทั้งใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคต ซึ่งสามารถสรุปถึงโอกาสต่างๆ ได้ดังนี้
1. การชำระค่าสินค้าระหว่างไทยและเมียนมาจะเป็นการให้เครดิตซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้ส่งออกของไทยมักจะให้เครดิตแก่นักธุรกิจชาวเมียนมานานกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ รวมทั้งการซื้อขายสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมาจะทำกันแบบง่ายๆ โดยใช้สกุลเงินบาทและเงินจ๊าต
2. สินค้าที่นำเข้าจากชายแดนไทยมีราคาต่ำกว่าคู่แข่งและสินค้าไม่ได้รับความเสียหายในขณะขนส่ง
3. คุณภาพของสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นที่นิยมของชาวเมียนมา เนื่องจากได้รับอิทธิพลทางการค้าชายแดนที่มีมาเป็นเวลานาน ทำให้ชาวเมียนมาแถบชายแดนนิยมบริโภคสินค้าไทยมากกว่าของประเทศคู่แข่ง
4. การบริการขนส่งสินค้าไทย สามารถจัดส่งได้รวดเร็วและสามารถระบุสถานที่รับสินค้าได้
5. ไทยสามารถค้าขายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้การกระจายสินค้าเข้าไปสู่เมืองต่างๆ ของเมียนมาได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในแถบชายแดนไทย-เมียนมา
6. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบธนาคาร และฝึกอบรมด้านการจัดระบบเอกสารให้แก่เมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกของไทยในเรื่องการเปิด L/C
7. ประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจของเมียนมามากกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น จีน บังคลาเทศ และอินเดีย ซึ่งนอกจากการติดต่อค้าขายระหว่างกันแล้ว ชาวเมียนมายังเข้ามาทำงานในฐานะแรงงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความคุ้นเคยและยอมรับในสินค้าไทยทั้งคุณภาพและราคา
จุดอ่อน
แรงงานของเมียนมาส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ รวมทั้งเมียนมาขาดผู้ที่มีความรู้ในด้านการทำธุรกิจต่างประเทศ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ประกอบกับกฎระเบียบทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ราชการมีการคอรัปชั่นสูง และเมียนมายังมีอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสูง
อุปสรรค
จากที่ได้มีการติดตามศึกษาข้อมูลพบว่านักธุรกิจไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้รับกลายเป็นข้อมูลด้านลบ ที่ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาจากแหล่งต่างๆ เป็นข้อมูลเชิงด้านการเมือง ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในภาคธุรกิจได้อย่างสิ้นเชิง จึงส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการวางแผน การประสานงานระหว่างกัน และสิ่งที่สำคัญคือ ข้อมูลต่างๆ ของทางการเมียนมาจะไม่เผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับรู้
ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจแนวทางหรือพฤติกรรมด้านการค้าของตลาดเมียนมา ก็เป็นปัญหาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างไทยกับเมียนมา คือ ผู้ประกอบการไทยมีความต้องการที่จะรองรับระบบการค้าของตลาดเมียนมาทั้งหมด แต่ไม่สามารถหาข้อมูลดังกล่าวได้ จึงทำให้เกิดปัญหาความไม่แน่ใจในการทำการค้า ทั้งนี้แนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือนักธุรกิจไทยไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า การส่งสินค้าไปยังตลาดเมียนมาเขาต้องทำอย่างไร หรือต้องทำโดยใคร (เนื่องจากข้อมูลบางอย่าง ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความประสงค์ต้องการปกปิด) ดังนั้น การทำการค้ากับตลาดเมียนมาควรวางแนวทางเหมือนกับการค้ากับต่างจังหวัด การตกลงการค้าสามารถทำเป็นเงินบาทได้ ผู้ซื้อจะโอนเงินค่าสินค้าเข้าสู่บัญชีในประเทศไทยได้โดยตรง ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการค้าสากล เหมือนกับที่ต้องทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ปัญหาการทำการค้ากับเมียนมาที่อาจเกิดขึ้น เช่น
- ค่าขนส่งจากชายแดนไทยสูง เพราะมีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองทำให้มีเงื่อนไขต้องไปเรียกเก็บกับผู้ประกอบการ แต่สินค้าจากจีนขนส่งเข้ามาในเมียนมา ได้สะดวกกว่าทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
- เส้นทางขนส่งสินค้าไทยที่เป็นเส้นทางหลัก คือด่านแม่สอด มีระยะทางจากแม่สอดถึงย่างกุ้ง ประมาณ 420 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน เนื่องจากความไม่สะดวกในเส้นทาง โดยเฉพาะการขนส่งหน้าฝนจะทำให้เกิดความล่าช้าและความเสียหายแก่สินค้าได้หากไม่ป้องกัน
- ตลาดมีศักยภาพแต่ระบบยังไม่เอื้ออำนวยเพื่อการค้าเท่าที่ควร ทั้งเรื่องความชัดเจนในข้อมูล ด้านขนส่ง เป็นต้น
โดย กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
เกร็ดเล็กๆเกี่ยวกับเมียนมาร์ : ประเทศพม่า (อังกฤษ: Burma หรือ Myanmar) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (อังกฤษ: Republic of the Union of Myanmar แต่เดิมชาวตะวันตกเรียกประเทศนี้ว่า Burma จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2532 พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Myanmar ชื่อใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ แต่บางชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อนี้ เนื่องจากไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ ปัจจุบันหลายคนใช้คำว่า Myanmar ซึ่งมาจากชื่อประเทศในภาษาพม่าว่า Myanma Naingngandaw อย่างไรก็ตาม คำว่าเมียนมาร์ เป็นการทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า Myanmar แต่ความจริงแล้ว ชาวพม่าเรียกชื่อประเทศตนเองว่า มยะหม่า หรือ เมียนมา ส่วนในประเทศไทยจะสะกดว่า เมียนมาร์
เชื่อว่าสังคมไทยคงยังไม่คุ้นชินนักกับคำว่า เมียนมา แต่ก็อาจปรับเปลี่ยนมาใช้และเรียกชื่อตามเจ้าของเสียใหม่ว่า ประเทศเมียนมา, ภาษาเมียนมา, คนเมียนมา เมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับคนประเทศนี้ ส่วนคำว่า พม่า อาจใช้เรียกอย่างลำลอง เหมือนอย่างที่เราเรียกคนยุโรปว่า ฝรั่ง ก็ได้ เพราะการรู้เขา-รู้เรา เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ต่อการคบหาและคบค้ากัน ในประชาคมอาเซียน ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น