วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ข่าวอาหารรอบโลก/Food News_11.7.17

รัสเซียคาด อาจขยายเวลาคว่ำบาตรยุโรปถึงปี 2020
                ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียลงนามขยายเวลาคว่ำบาตรต่อสหภาพยุโรปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2018 และคาดว่าอาจจะมีการขยายเวลาไปจนถึงปี 2020 โดยความเคลื่อนไหวของรัสเซียในประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังสหภาพยุโรปประกาศขยายเวลาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียอีก 6 เดือนอย่างเป็นทางการ
                ทั้งนี้ เมื่อปี 2014 รัสเซียประกาศระงับการนำเข้าสินค้าเกษตร วัตถุดิบ และสินค้าอาหารจากประเทศตะวันตกหลายประเทศเพื่อเป็นการตอบโต้การคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปต่อรัสเซีย

ที่มา: tass.com 
ออสเตรเลีย สั่งเลิกแบนกุ้งเวียดนาม
              เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย สั่งยกเลิกการระงับนำเข้ากุ้งดิบจากเวียดนาม โดยก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้มีคำสั่งระงับการนำเข้ากุ้งดิบ และกุ้งปอกเปลือกจากประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบการระบาดของโรคจุดขาวในกุ้ง ซึ่งคำสั่งระงับนำเข้าดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งภายในเวียดนามเป็นอย่างมาก
               ทั้งนี้  แม้ว่าออสเตรเลียจะอนุญาตให้นำเข้ากุ้งดิบจากเวียดนามแล้ว แต่ได้มีการแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้ง ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับการป้องกันที่เหมาะสมของออสเตรเลีย (ALOP) เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศ

ที่มา: undercurrentnews.com
บราซิล ยันเนื้อไก่ส่งออกปลอด Salmonella แล้ว
              บราซิลแจ้งย้ำไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ Salmonella ในเนื้อไก่ส่งออกแล้ว หลังจากเมื่อในเดือน พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเนื้อส่งออกบราซิลพบวิกฤติอย่างหนัก เนื่องจาก พบเนื้อไก่ส่งออกมายังสหภาพยุโรปมีการปนเปื้อนเชื้อ Salmonella ซึ่งทางสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้บราซิลปรับปรุงกระบวนการผลิต และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ
                 ล่าสุดบราซิลได้เข้าตรวจสอบเนื้อไก่ส่งออกอย่างละเอียด และชี้แจงไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อ Salmonella typhimurium และ Salmonella enteritidis แล้ว พร้อมแนะมาตรการใหม่ของบราซิลได้แก้ไขข้อกำหนดด้านสุขอนามัย และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ Salmonella รวมทั้งได้มีการขยายอัตรากำลังสัตวแพทย์กว่า 300 ราย เพื่อทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการเข้าตรวจสอบภาคอุตสาหกรรมเนื้อส่งออก  นอกจากนี้ ภาครัฐบราซิลยังเตรียมส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ไปฝึกอบรมเพิ่มเติมยังเนเธอร์แลนด์ , ฝรั่งเศส , ไอร์แลนด์, เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็กด้วย
 

ที่มา: thepoultrysite.com

ญี่ปุ่น-ยุโรปจับมือ เตรียมเว้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ
               ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปเตรียมพิจารณาข้อตกลงเบื้องต้นในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic partnership agreement : EPA) ระหว่างกันในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยญี่ปุ่นเล็งยกเว้นภาษีนำเข้าเนื้อวัวของทั้งสองฝ่าย เชื่อไม่กระทบอุตสาหกรรมในประเทศ แต่จะได้ประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มตามความนิยมอาหารญี่ปุ่นที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านยุโรปคาดว่าการยกเว้นภาษีจะส่งผลให้สามารถส่งออกเนื้อหมู ไวน์ และชีสได้เพิ่มขึ้น
                        ในความตกลงหุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะพิจารณาการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหลายรายการ ได้แก่ เนื้อหมู ไวน์ เนื้อวัว ช็อคโกแลต พาสต้า เนื้อลูกวัว ชีส และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งญี่ปุ่นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อวัวในประเทศเนื่องจากมีการนำเข้าในปริมาณน้อย แต่จะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของความนิยมร้านอาหารญี่ปุ่นซึ่งจะส่งผลให้สามารถส่งออกเนื้อวัวได้เพิ่มขึ้น ส่วนสหภาพยุโรปคาดว่าการยกเว้นภาษีจะช่วยให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู ไวน์ และชีส ที่ปัจจุบันญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูง
                           อนึ่ง ญี่ปุ่นกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม และไวน์จากสหภาพยุโรปที่อัตราร้อยละ 38.5 ร้อยละ 20-35 และร้อยละ 15 ตามลำดับ ในขณะที่ยุโรปเก็บภาษีนำเข้าเนื้อวัวจากญี่ปุ่นที่อัตราร้อยละ 12.8
 
 
ที่มา: thecattlesit.com 

สรุปโดย: มกอช.




Food Law Update EU_EU อนุญาตให้ใช้ butane, isobutane และ propane ในการเตรียมสีผสมอาหาร

EU อนุญาตให้ใช้ butane (E 943a), isobutane (E 943b) และ propane (E 944) ในการเตรียมสีผสมอาหาร

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ Commission Regulation (EU) 2017/874  of 22 May 2017 amending Annex III to Regulation (EC) No 1333/2008 of the European Parliament and of the Council as regards the use of butane (E 943a), isobutane (E 943b) and propane (E 944) in colour preparations ใน EU Official Journal L 134/18 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                 ๑. กฎระเบียบใหม่นี้เป็นการแก้ไข Annex III ใน Regulation (EC) No 1333/2008 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อ วัตถุเจือปนอาหาร (food additives) ที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ในอาหาร โดยการแก้ไขในครั้งนี้ เป็นการอนุญาตให้ใช้ butane (E 943a), isobutane (E 943b) และ propane (E 944) ในการเตรียมสีผสมอาหารในกลุ่ม II และ III       เพื่อช่วยให้สีกระจายทั่วถึงในอาหาร ซึ่ง EU Scientific Committee on Food (SCF) เคยกำหนดระดับค่าตกค้างสูงสุดของ butane (E 943a), isobutane (E 943b) และ propane (E 944) ไว้ ที่ระดับ ๑ มิลลิกรัม/กิโลกรัมต่อสสาร (mg/kg per substance) รวมถึงได้ลงความเห็นว่า หากใช้ในกระบวนการปรุงอาหารให้สุกหรือทอด จะไม่ส่งผลเป็นพิษต่ออาหาร เนื่องจากระดับการตกค้างของแก๊ซที่พ่นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และจากผลการวิจัยที่ได้รับจากผู้ยื่นคำร้องพบว่า ค่าตกค้างของแก๊ซจะลดลงที่ระดับต่ำกว่า๑ มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ๑ ชั่วโมงหลังจากที่พ่น 
                  ๒. ดังนั้น EU จึงเห็นควรอนุญาตให้ใช้ butane (E 943a), isobutane (E 943b) และ propane (E 944) ในการเตรียมสีผสมอาหารได้  อย่างไรก็ดี จากความเสี่ยงในการติดไฟและเพื่อให้มีการทิ้งช่วงระยะเวลาห่าง EU จึงจำกัดการใช้งานให้เฉพาะกับการใช้งานทางวิชาชีพ (professional use) เท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีการเคารพกฎข้อปฎิบัติตามมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม และกำหนดว่าต้องให้มีช่วงระยะห่างนับตั้งแต่ที่อาหารได้รับการพ่นสีไปจนถึงมือผู้บริโภค ทั้งนี้ เพื่อควบคุมค่าตกค้างของแก๊ซไม่ให้เกินกว่าค่าที่กำหนดไว้ที่ระดับ ๑ มิลลิกรัม/กิโลกรัม
                 ๓. กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศลงใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐)  สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก เวปไซต์ ดังต่อไปนี้
           โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Food Law Update EU_EU ปรับแก้กฎเกี่ยวกับอาหารสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงอินทรีย์

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2017/838  of 17 May 2017 amending Regulation (EC) No 889/2008 as regards feed for certain organic aquaculture animals ใน EU Official Journal L 125/5 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
            ๑.      กฎใหม่นี้เป็นการแก้ไขข้อกำหนดเดิมในมาตรา ๒๕I(1) ของ Regulation (EC) No 889/2008 ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการให้อาหารสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงอินทรีย์ใน  Annex XIIIa, Section 6, Section 7, และ Section 9 ซึ่งแต่เดิมกำหนดว่า สัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่อยู่ในช่วงฟักตัว (hatchery stage) จะไม่สามารถได้รับอาหารอื่นใดได้นอกจากอาหารที่อยู่ในธรรมชาติเท่านั้น อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก EU ได้มีการแจ้งต่อคณะกรรมาธิการยุโรปว่า ข้อกำหนดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งกลุ่ม Penaeid โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) เพราะก่อให้กุ้งเกิดภาวะขาดสารอาหาร (malnutrition) และส่งผลให้อัตราการตายเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงขอให้มีการพิจารณาทบทวนข้อกำหนดดังกล่าวใหม่  
            ๒.      EU พิจารณาข้อท้วงติงดังกล่าว รวมถึงได้รับคำยืนยันจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านข้อแนะนำทางเทคนิคการผลิตอินทรีย์ (Expert Group for Technical Advice on Organic Production : EGTOP) ว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเหมาะเฉพาะสำหรับสัตว์น้ำในช่วงเจริญเติบโต เพราะการห้ามไม่ให้อาหารประเภทปลาป่นและน้ำมันปลาในช่วงสัตว์น้ำวัยอ่อนนั้น ส่งผลให้สัตว์น้ำไม่ได้รับสารอาหารตามที่ต้องการ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวใหม่ว่า สัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต (grow-out stage)  ตาม Annex XIIIa, Section 6, Section 7, และ Section 9 ให้ได้รับอาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อและบึง (โดยไม่ครอบคลุมสัตว์น้ำที่อยู่ในช่วงฟักตัวอีกต่อไป)    
             ๓. กฎดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมาย ๒๐ วันหลังจากที่ประกาศลงใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐)  สำหรับรายละเอียดของกฎดังกล่าวนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวปไซต์ ดังต่อไปนี้
           โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป