วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Food News: สรุปรวมข่าวประจำพ.ค.จาก มกอช.วันที่ 15-26/5/2561

สหรัฐฯประกาศบังคับใช้ระเบียบ SIMP ต่อสินค้ากุ้งและหอยเป๋าฮื้อ
                ในสหรัฐอเมริกา กฎระเบียบตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า (Seafood Import Monitoring Program: SIMP) ได้มีผลบังคับแล้วใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา แต่ทว่า กฎระเบียบนี้ครอบคลุมสัตว์น้ำกลุ่มเสี่ยงเพียงแค่ 11 ชนิดพันธุ์ โดยยังไม่ได้รวมกุ้งซึ่งเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีการนำเข้ามากที่สุดของสหรัฐฯและหอยเป๋าฮื้อในตอนนั้น เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีข้อกำหนดด้านการตรวจสอบแหล่งที่มาสำหรับผู้ผลิตในสหรัฐฯ
                ต่อมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะ ขยายการบังคับใช้กฎระเบียบ SIMP ให้ครอบคลุมกุ้งและหอยเป๋าฮื้อด้วย โดยจะเริ่มบังคับใช้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561
                ทั้งนี้ ซึ่งกฎระเบียบ SIMP ฉบับล่าสุดนี้จะครอบคลุมสัตว์น้ำกลุ่มเสี่ยงรวมแล้วเป็น 13 ชนิดพันธุ์ อีกทั้ง ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำกลุ่มเสี่ยงนี้ยื่นชุดข้อมูลเพิ่มถึง 17 ประเด็น

ต้องติดฉลากสารก่อให้เกิดอาการแพ้ของผักลูปินในออสเตรเรียและนิวซีแลนด์
                สำนักงานมาตรฐานอาหารออสเตรเลียนิวซีแลนด์ (Food Standards Australia New Zealand :FSANZ) ได้แจ้งเตือนมาตรการให้บริษัทผลิตอาหารต้องติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ของผักลูปิน (lupin) โดยต้องเริ่มติดฉลากในวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 เนื่องจากผักดังกล่าวมีสารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยปกติในออสเตรเลียไม่นิยมนำผักลูปินมาใช้ประกอบอาหาร แต่ด้วยความที่มีโปรตีน และกากใยที่สูงจึงมีความพยายามนำผักดังกล่าวมาใช้ประโยชน์มากขึ้น 
                ทั้งนี้ ในปี 2560 ผักลูปินได้ถูกเพิ่มลงไปในรายชื่อผักที่ต้องติดฉลากโดยระบุว่ามีสารก่อให้เกิดการแพ้ ซึ่งผู้ประกอบการอาหารมีเวลาในการติดฉลากทั้งหมดภายใน 12 เดือนหลังจากออกมาตราการ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะถูกวางจำหน่ายแล้วก็ตาม  โดยการติดฉลากเพื่อระบุว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีสารก่อให้เกิดการแพ้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย

อินเดียเตรียมประกาศระเบียบติดฉลาก GM บนผลิตภัณฑ์อาหาร
                หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย (The Food Safety and Standards Authority of India : FSSAI) ได้ประกาศร่างระเบียบการติดฉลากอาหารฉบับปรับปรุงความยาวกว่า 42 หน้า ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปรพันธุกรรม (GMO) และฉลากโภชนาการ ซึ่งถือเป็นการประกาศการติดฉลาก GMO เป็นครั้งแรก เนื่องจากก่อนหน้านี้อินเดีย ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ผลิตติดฉลาก GMO ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าอาหารที่ซื้อไปนั้นมีส่วนผสมที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่ โดยระเบียบใหม่ได้กำหนดเกณฑ์ในการติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารที่มีส่วนผสมของ GMO มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ติดฉลากว่า "มีส่วนผสมของ GMO"  และสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ ไขมัน น้ำตาล และเกลือในปริมาณสูง จะต้องติดแถบสีแดง ในกรณีที่มีสัดส่วนของพลังงานมาจากส่วนผสมของน้ำตาลมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานทั้งหมด โดยการติดฉลากแถบสีจะช่วยให้ผู้บริโภครับทราบถึงคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
                ทั้งนี้องค์กรสาธารณะเพื่อต่อต้าน GMO อินเดีย (Coalition for a GM-Free India) ได้คัดค้านการติดฉลากดังกล่าวเนื่องจากว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้า GMO เข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งทางองค์กรคาดว่ารัฐจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มากกว่าเป็นข้อกำหนดกฎหมายที่ส่งผลให้เห็นฉลาก GMO ง่ายขึ้น

FDA ปรับขยายเวลาระเบียบติดฉลากโภชนาการใหม่
                เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้ประกาศกฎระเบียบว่าด้วยการติดฉลากโภชนาการล่าสุด ซึ่งได้ขยายเวลาการปฏิบัติตามกฎระเบียบจากเดิมที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ขยายเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มียอดขายต่อปีไม่เกินกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะได้ขยายระยะเวลาการปรับตัวเพิ่มอีกหนึ่งปีเป็นวันที่ 1 มกราคม 2564
                ทั้งนี้ การปรับขยายระยะเวลาบังคับใช้ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากการเปิดให้ลงความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) ได้ตระหนักถึงความต้องการเพิ่มช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการ จึงได้มีการขยายเวลาเพิ่มอีก 18 เดือน ที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนฉลากใหม่ของผู้ประกอบการที่ส่งความเห็นเข้ามาจำนวนมาก

เมริกาเรียกคืนไส้กรอกร้อยกว่าตันเหตุไม่ติดฉลากสารก่อภูมิแพ้
                เมื่อวันพุธที่ผ่านมาทางการรัฐมิชิแกนได้เรียกคืนไส้กรอกมากกว่า 308,000 ปอนด์ หรือกว่า 139,706 กิโลกรัม เนื่องจากความผิดพลาดในการแสดงฉลากและ ไม่ได้ติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ ที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบกว่า 44 รายการ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ถูกเรียกคืนผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ถึง 29 เมษายน 2561 ในสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรสหรัฐเลขที่ 5694 และจัดส่งไปจำหน่ายตามศูนย์กระจายสินค้า และร้านอาหารทั่วไป
                โดยวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ผู้ปฏิบัติในสถานประกอบการพบข้อสังเกตระหว่างการผลิตสินค้า  เนื่องจากทางผู้ประกอบการสังเกตเห็นฉลากส่วนผสมเครื่องเทศที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตไส้กรอกเนื้อมีส่วนผสมของโปรตีนถั่วเหลือง แต่ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกลับไม่ได้ติดฉลากที่ระบุสารก่อภูมิแพ้ลงไปหลังผลิตเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าไส้กรอกเนื้อจะเป็นไส้กรอกชนิดเดียวที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง ก็ยังคงมีไส้กรอกอีกหลายชนิดที่ถูกเรียกคืนเนื่องจากว่าอาจมีการปนเปื้อนข้ามในอุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างการผลิต แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้รับรายงานถึงผลข้างเคียงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  โดยสำนักงานความปลอดภัยอาหารและการตรวจสอบอาหาร (FSIS) ได้ประกาศเตือนร้านอาหาร รวมถึงผู้บริโภคอีกว่าควรทิ้งหรือนำสินค้าดังกล่าวไปคืน ซึ่ง FSIS ยังคงติดตามการเรียกคืนสินค้าจากผู้ประกอบการอีกด้วย

องค์การอนามัยโลกออกนโยบายควบคุมไขมันทรานส์
                เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เสนอวิธีการกำจัดไขมันทรานส์ (Trans fat) ออกจากอาหารแปรรูปทั่วโลก เรียกว่า REPLACE เนื่องจากไขมันทรานส์เป็นไขมันอันตรายที่ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจจำนวนมากถึง 5 แสนคนต่อปี ไขมันทรานส์มักจะมีอยู่ในขนมขบเคี้ยว ขนมเบเกอรี่ และของทอดต่างๆ ด้วยเหตุที่มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานกว่าไขมันประเภทอื่น จึงทำให้เป็นที่นิยมใช้กันในกระบวนการผลิตอาหาร ดังนั้น REPLACE จึงเป็นยุทธศาสตร์ 6 ขั้นตอนที่จะสามารถกำจัดไขมันทรานส์ได้อย่าง รวดเร็ว หมดจด และยั่งยืน ดังนี้
     1. RE มาจากคำว่า Review หมายถึง การตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของไขมันทรานส์ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายตามความเหมาะสม                                                   
     2. P มาจากคำว่า Promote หมายถึง สนับสนุนการใช้ไขมันประเภทอื่นแทนไขมันทรานส์
     3. L มาจากคำว่า Legislate หมายถึง การออกกฎหมายข้อบังคับต่างๆเพื่อกำจัดไขมันทรานส์
     4. A มาจากคำว่า Assess หมายถึง คอยตรวจสอบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร และปริมาณการบริโภคไขมันทรานส์ของประชาชน
     5. C  มาจากคำว่า Create หมายถึง การสร้างความตระหนักถึงผลเสียที่ไขมันทรานส์มีต่อสุขภาพ ทั้งในทางภาครัฐ ผู้ประกอบการ และ ประชาชน
     6. E มาจากคำว่า Enforce หมายถึง การบังคับใช้กฎหมายข้อบังคับต่างๆ
                ทั้งนี้ หลายประเทศที่มีรายได้สูงได้ควบคุมปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยการจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ที่อนุญาตให้อยู่ในอาหารได้ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น เดนมาร์กมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดหัวใจลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงบางประเทศห้ามใช้น้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrogenated oil) ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นหลักของไขมันทรานส์ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยยังคงขาดการควบคุมดูแลในลักษณะนี้ 
               อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ REPLACE อาจจะประสบปัญหาในการนำไปปฏิบัติได้ เนื่องจากองค์การอนามัยโลกไม่มีอำนาจในการออกหรือบังคับใช้กฎหมาย ทำได้เพียงสนับสนุนประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตาม REPLACE เท่านั้น

ออสซี่ เริ่มบังคับใช้ฉลากแหล่งกำเนิดอาหาร ก.ค 61
                เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำออสเตรเลีย ประกาศแจ้งเตือนผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าอาหารเกี่ยวกับการบังคับใช้ข้อกำหนดการติดฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดอาหารตามข้อกำหนดใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 (IFN 03-18- Country of Origin Labelling from 1 July 2018) ซึ่งข้อกำหนดการติดฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดอาหารฉบับใหม่ ภายใต้มาตรฐานข้อมูลการติดฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดอาหาร ฉบับปี 2559 (The Country of Origin Food Labelling information Standard 2016) มีระยะเวลาผ่อนผัน 2 ปี และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 นี้
                ทั้งนี้ อาหารที่ได้รับการจัดลำดับให้มีความสำคัญ (Priority foods) จะต้องเพิ่มรูปภาพ และข้อมูลตามที่กำหนด เช่น โลโก้ กราฟแท่ง และข้อความภายในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนอาหารที่ไม่ใช่สินค้าที่สำคัญ (Non-priority foods) สามารถระบุข้อมูลเพิ่มเติมใหม่ได้ตามความสมัครใจ และสินค้าในกลุ่มนี้ที่กำหนดให้แสดงข้อความแหล่งกำเนิดสินค้าบนฉลากนั้น ได้แก่ เครื่องปรุง ขนมหวาน บิสกิตและขนมขบเคี้ยว น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกฮอล์

ผลงานวิจัยใหม่แมลงวันผลไม้เป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรีย
                มีผลงานวิจัยใหม่ฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่า แมลงวันผลไม้สามารถถ่ายทอดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายจากพื้นผิวภาชนะที่ปนเปื้อนสู่อาหาร ซึ่งในปัจจุบันแมลงดังกล่าวมีปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของอุปกรณ์การทำอาหาร โดยผลการวิจัยยังระบุอีกว่า แมลงดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของอาหารเทียบเท่ากับแมลงชนิดอื่นเช่น แมลงสาป หนู และแมลงวันบ้าน จากผลการวิจัยทางห้องปฏิบัติการยังพบว่า แมลงดังกล่าวเป็นพาหะของเชื้ออีโคไล เชื้อซาลโมเนลลา และเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย ซึ่งระบุว่าค่าเฉลี่ยแมลงวันผลไม้ 1 ตัวสามารถแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียได้มากถึง 1000 ตัว ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของการติดเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้มีอาการท้องเสีย อาเจียน หรืออาการที่มาจากโรคที่เกิดจากอาหารต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรป้องกันด้วยการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรืออุปกรณ์ต่างๆในห้องครัวอีกด้วย

อ.ย. สหรัฐฯควบคุมการใช้ PHOs
               สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration, USFDA) ได้มีมาตรการควบคุมการใช้น้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (partially hydrogenated oils: PHOs) ในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของไขมันทรานส์ (trans fat)
                ในปี 2015 สำนักงานฯได้แจ้งว่าน้ำมัน PHOs ไม่ปลอดภัยสำหรับอาหารคน และมีความประสงค์ที่จะถอดถอนน้ำมัน PHOs ออกจากอาหารให้หมด โดยต้องการให้ผู้ประกอบการเลิกใช้น้ำมัน PHOs และได้ให้เวลาผู้ประกอบการ 3 ปีในการปลับเปลี่ยนสูตรการผลิตเพื่อที่จะไม่ใช้น้ำมัน PHOs แต่ทว่า สำนักงานฯได้ขยายเวลาออกไปอีก 2 ปีจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2020 เพื่อช่วยให้การปรับเปลี่ยนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                โดยก่อนหน้านี้ ได้มีผู้ประกอบการรายหนึ่งขออนุญาตใช้น้ำมันดังกล่าวในการผลิตอาหาร ซึ่งทางสำนักงานฯได้ปฏิเสธไปแล้ว ด้วยให้เหตุผลว่า ไขมันทรานส์เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของชาวอเมริกันจากโรคหัวใจต่างๆ การเลิกใช้น้ำมัน PHOs จึงเป็นการคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน 

สหรัฐฯมองว่าเนื้อไก่สดจากจีนไม่ปลอดภัย
                สหรัฐฯปฏิเสธการนำเข้าเนื้อไก่สดทั้งที่เลี้ยงและเชือดในจีน แต่อนุญาตนำเข้าเฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปจากจีนหรือที่ใช้เนื้อไก่จากประเทศอื่นที่ได้มาตรฐานมาโดยตลอดเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่า หน่วยงานความปลอดภัยขด้านอาหารและบริการตรวจสอบของสหรัฐฯ (Food Safety and Inspection Service, FSIS) พบว่า ระบบความปลอดภัยอาหารและการตรวจสอบสำหรับการแปรรูปเนื้อไก่ของจีนนั้นมีความเท่าเทียมกับของสหรัฐฯ รวมถึง การนำเข้าเนื้อไก่แปรรูปจากจีนจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานและการควบคุมของสหรัฐฯ
                อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯจะยังคงปฏิเสธเนื้อไก่สดจากจีนต่อไป เนื่องจากเป็นการปกป้องผู้บริโภคชาวสหรัฐ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของจีนรายงานว่า ผู้ประกอบการจีนมีพฤติกรรมละเมิดกฎความปลอดภัยของอาหารมากถึง 500,000 ครั้งเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2559 นับเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ยากต่อหารแก้ไขสำหรับจีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น