วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Food News: สรุปรวมข่าวประจำพ.ค.จาก มกอช.วันที่ 1-14/5/2561

กลับมาอีกครั้งหลังจากไปยุ่งเรื่องอื่นอยู่
น้ำฝนรวมข่าวมาให้อ่านง่ายๆนะคะของวันที่ 1-14/5/2561 เรียงจากวันที่ 1 ไปนะคะ
ไม่ได้เอามาทุกข่าวนะคะ เลือกจากบางเรื่องที่มีการดำเนินการและมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและความปลอดภัยอาหารเรา

แหล่งข่าวจากมกอช.ค่ะ

ฮ่องกงยกเลิกตรวจเช็ครังสีไอโอดีน-131 ในอาหารญี่ปุ่น
                เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงมากถึง 9 ริกเตอร์ในทางทิศตะวันออกของญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) จนได้รับความเสียหายและส่งกัมมันตรังสีแผ่กระจายทั่วพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พืชผลปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เป็นเหตุให้หลายประเทศระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากญี่ปุ่น
                ในช่วงแรกนั้น ฮ่องกงระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากญี่ปุ่น เช่น ผัก ผลไม้ นม ฯลฯ ต่อมาได้อนุญาตให้นำเข้าได้โดยต้องมีใบรับรองค่าสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (Iodine-131, I-131) ซีเซียม-134 (Ceasium-134, Cs-134) และ ซีเซียม-137 (Ceasium-137, Cs-137) กำกับว่าไม่เกินค่าที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission, Codex)
                แต่ทว่า ขณะนี้หน่วยงานความปลอดภัยอาหารฮ่องกง (Hong Kong Center for Food Safety) ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดให้ตรวจเช็ครังสีไอโอดีน-131 ในผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นแล้ว เนื่องจากช่วงเวลาที่ธาตุกัมมันตรังสีสลายตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม (half-life) ของไอโอดีน-131 ใช้เวลาเพียง 8 วัน อย่างไรก็ตาม ธาตุกัมมันตรังสีตัวอื่น เช่น ซีเซียม-134 ที่ต้องใช้เวลา 2 ปี และซีเซียม-137 ที่ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี จำเป็นต้องตรวจเช็คค่าของสารเหล่านี้ต่อไป

เมกาเรียกคืนไข่ 207ล้านฟองเหตแพร่ระบาดซาลโมเนลลา
                เปลือกไข่จากฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐอินเดียนาได้ถูกเรียกเก็บไปตรวจสอบเนื่องจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) โดยฟาร์มผู้ผลิตเรียกเก็บไข่ถึง 207 ล้านฟองทั่วสหรัฐอเมริกามีผู้บริโภค 23 รายใน 9 รัฐได้รับคำยืนยันว่าติดเชื้อซาลโมเนลลา ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและการติดเชื้อระบุว่ามีผู้บริโภค 6 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (the U.S. Food and Drug Administration) ได้รับรายงานจากฟาร์มผู้ผลิตว่า ไข่ดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังหมู่เกาะเวอร์จิน และในหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาฮามาส เฮติ อารูบา หมู่เกาะเคย์แมน ฮ่องกง หมู่เกาะเซนต์มาร์ติน หมู่เกาะเติร์กส์และเคคอส และแซ็ง-บาร์เตเลมี โดยในสหรัฐอเมริกาก็ได้เรียกคืนไข่ตามร้านอาหารและรวมไปถึงห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่งด้วย

ข้อกำหนดการขนส่งอาหารของ อ.ย. สหรัฐฯ
                ในปี 1990 ได้มีการตั้งกฎหมายเกี่ยวกับสุขอนามัยการขนส่งอาหารเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า พระราชบัญญัติสุขอนามัยการขนส่งอาหาร (Sanitary Food Transportation Act) อยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา (U.S. Depart of Transportation) แต่ทว่า ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนี้ได้เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากกระทรวงดังกล่าวขาดความรู้ความชำนาญในเรื่องความปลอดภัยอาหาร ดังนั้น รัฐสภาสหรัฐ (United States Congress) จึงเห็นควรที่จะโอนย้ายความรับผิดชอบนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration, USFDA) ในปี 2005
                ต่อมา รัฐสภาสหรัฐได้รวบรวมข้อกำหนดด้านสุขอนามัยการขนส่งของอาหารคนและสัตว์ (The Sanitary Transportation of Human and Animal Food Rule) ให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการปรับปรุงความปลอดภัยของอาหารให้ทันสมัยของสหรัฐอเมริกา (Food Safety Modernization Act, FSMA) และได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว โดยข้อกำหนดดังกล่าวถือว่าเป็นข้อกำหนดแรกที่เข้ามาควบคุมสุขอนามัยการขนส่งอาหารอย่างจริงจังในสหรัฐอเมริกา
                ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการฯได้หารือกับผู้ประกอบการในการร่างข้อกำหนดนี้ แต่ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเลือกวิธีขนส่งตามความเหมาะสม เป็นไปตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหาร เช่น ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้รถห้องเย็น หรือภาชนะแช่เย็น สำหรับอาหารที่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ

ช็อค !! เนื้อยี่ห้อดังในอเมกาถูกเรียกคืนเหตุพบชิ้นส่วนพลาสติกปะปน 
                เมื่อวันพุธที่ผ่านมาได้มีการเรียกคืนสินค้าเนื้อสดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยสำนักงานความปลอดภัยอาหารและการตรวจสอบอาหาร (FSIS) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ได้เรียกคืนสินค้าประมาณ 35,500 ปอนด์ หรือประมาณ 17 ตัน ตามรายงานระบุว่า ผู้บริโภคได้พบเจอเศษชิ้นส่วนของพลาสติกสีน้ำเงินปะปนอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าที่ถูกเรียกคืนผลิตเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ในโรงงานหมายเลขสถานประกอบการ EST.34176 ได้รับการตรวจสอบสินค้าที่จัดส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าในรัฐเวอร์จิเนีย และ รัฐอินเดียนา เพื่อส่งไปจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงในการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
(ในไทยนี่สิวๆเลย 55)

EU พบระบบควบคุมสารอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงจีนล้มเหลว
               สหภาพยุโรปตรวจพบสารอะฟลาทอกซิน (Alflatoxin) ในถั่วลิสงนำเข้าจากจีน สืบเนื่องมาจากระบบควบคุมการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในกระบวนการผลิตถั่วลิสงจีนล้มเหลว โดยหน่วยงานสุขภาพและความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (Health and Food Safety) ได้เข้าตรวจการทำงานของห้องปฏบัติการ (laboratory) สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรค (China Inspection and Quarantine, CIQ) ในมณฑลซานตง (Shandong) และมณฑลจี๋หลิน (Jilin)
                ทั้งนี้ ระบบการแจ้งเตือนสินค้าอาหารของสหภาพยุโรป (Rapid Alert System for Food and Feed, RASFF) ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 12 ครั้งในปี 2018 จำนวน 49 ครั้งในปี 2017 จำนวน 49 ครั้งในปี 2016 และมากถึงจำนวน 90 ครั้งในปี 2015 ซึ่งการที่ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้ามาในยุโรปได้นับเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากการไม่มีใบรับรองสุขอนามัยหรือใช้ใบรับรองปลอม ณ จุดควบคุมนำเข้า

อ.ย. สหรัฐฯเตือน 9 ประเทศอาจนำเข้าไข่ปนเปื้อน
                สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration, USFDA) เตือน 9 ประเทศ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) เฮติ (Haiti) ฮ่องกง(Hong Kong) หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) หมู่เกาะเติกส์และเคคอส (Turks and Caicos Islands) แซ็ง-บาร์เตเลมี (Saint Barthelemy) เกาะเซนต์มาร์ติน (Saint Martin) อารูบา (Aruba) และหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ (US Virgin Islands) เนื่องจากอาจนำเข้าไข่ไก่ปนเปื้อนจากฟาร์มแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่มีการระบาดของเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งก่อนหน้านี้ ต้องเรียกคืนไข่มากถึง 207 ล้านฟอง และมีผู้บริโภคจำนวน 23 รายใน 9 รัฐติดเชื้อซาลโมเนลลา
                ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมฯได้เข้าตรวจสอบฟาร์มดังกล่าว พบว่าต้นเหตุคือความบกพร่องในการควบคุมหนูและสุขอนามัย ทำให้อุปกรณ์ต่างๆและไข่ปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบหนูเป็นๆในโรงเลี้ยงมากถึง 8 โรง และเมื่อตรวจสอบดูบันทึกการควบคุมสัตว์รบกวน (pest control record) ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2017 เป็นต้นมา พบว่ามีการระบาดของหนูในฟาร์มนี้มาตลอด 

EFSA พบสารฟิโพรนิลในไข่!
                องค์การความปลอดภัยของอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) ได้สำรวจการปนเปื้อนของสารฟิโพรนิล (Fipronil) และสารอื่นๆในไข่ไก่จำนวน 5 พันฟองในระยะเวลาตั้งแต่ 1 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2560 พบว่ามีไข่จำนวน 742 ฟองมีปริมาณสารฟิโพรนิลสูงเกินกว่าที่กฎหมายกดหมาย ซึ่งล้วนแล้วเป็นไข่จากประเทศ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เยอรมนี โปแลนด์ ฮังการี่ ฝรั่งเศส สโลวาเกีย และกรีซ
                ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ปี 2560 ทางการประเทศเบลเยี่ยมได้ตรวจพบสารฟิโพรนิลปนเปื้อนในไข่ไก่ ส่งผลให้ต้องเรียกไข่คืนนับล้านฟองจากออกตลาดในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นการใช้ยาผิดกฎหมายในฟาร์ม

ทางการรัฐเพนซิลเวเนียแจ้งเตือนนมแบรนด์ดังปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย
                เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรของรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania’s Department of Agriculture) ได้ประกาศเตือนให้ผู้บริโภคที่มีนมสดยี่ห้อหนึ่งเฝ้าระวังอาการติดเชื้อลิสทีเรีย เนื่องจากพบว่า นมสดดังกล่าวไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ (Pasteurization) มาก่อน ซึ่งผลการทดสอบได้ระบุว่าพบการปนเปื้อนของเชื้อลิสทีเรีย ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตระหว่างวันที่ 25 เมษายน 2561 – 7 พฤษภาคม 2561 โดยแนะนำให้ผู้บริโภคทิ้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันที  ทั้งนี้ อาการจะแสดงภายหลังรับประทานไป 70 วัน ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยเชื้อดังกล่าวอาจทำให้แท้ง หรือก่อให้เกิดอันรายในทารก เด็กเล็ก และ คนชรา ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานอาการเจ็บป่วยจากการดื่มนมดังกล่าว อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีหลังจากมีอาการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

สหรัฐ! บังคับระบุ GMOs บนฉลาก
                กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture, USDA) ได้ออกกฎหมายใหม่ ที่บังคับให้มีการระบุฉลากหากผลิตภัณฑ์อาหารมีส่วนประกอบของพืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms, GMOs) เพื่อเป็นการเปิดข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อของผู้บริโภค รวมถึงให้เปลี่ยนเป็นคำว่า วิศวกรรมชีวภาพ (Bioengineered, BE) แทนคำว่า ดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified) บนฉลาก เนื่องจากเป็นคำสากลที่ใช้ในรัฐสภาสหรัฐ (United States Congress)
                ผู้ประกอบการมีทางเลือก 3 วิธีในการระบุฉลาก วิธีที่หนึ่งคือเขียนประโยคว่า “มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปลงพันธุกรรม” (contains a bioengineer ed food ingredient) วิธีที่สองของใช้เครื่องหมาย BE และวิธีสุดท้ายคือใช้ QR โค้ดที่เชื่อมไปเว็บไซต์ที่สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้
                ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้อนุญาตให้ ผลิตภัณฑ์ที่ส่วนประกอบจากน้ำตาลและน้ำมันดัดแปลงพันธุกรรม เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ผักกาดฝรั่ง เป็นต้น ได้รับการยกเว้นจากการระบุฉลาก GMOs เนื่องจากกระบวนการผลิตได้กำจัดดีเอ็นเอที่ถูกดัดแปลงออกไปแล้ว รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบดัดแปลงพันธุกรรมโดยรวมน้อยกว่าร้อยละห้าก็ได้รับการยกเว้นเช่นกัน
                อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ยังไม่ได้ถูกประกาศใช้และกำลังอยู่ในช่วงประชาพิจารณ์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในฤดูร้อนนี้

หลายประเทศระงับนำเข้าหมูจากฮังการีเพราะโรค ASF
                สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งชาติของฮังการี (National Food Chain Safety Office, NÉBIH) พบการระบาดของโรคอหิวาต์สุกร (African Swine Fever, ASF) ในหมูป่าที่เมืองไฮฟ์ (Heves) ทางตอนเหนือของประเทศ โดยองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health, OIE) เปิดเผยว่าข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นถึงต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้ว่า มาจากชาวต่างชาติที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ทิ้งขยะอาหารที่คาดว่าเป็นสาเหตุของโรค แต่ยังคงดำเนินการสืบค้นที่มาที่แน่ชัดของการระบาดโรคดังกล่าวต่อไป
                จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศ ได้แก่ เซอร์เบีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ระงับการนำเข้าเนื้อหมูจากฮังการี โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าเนื้อหมูรายใหญ่ที่เคยทำรายได้สูงถึง 76.2 ล้านเหรียญยูโรต่อปี
                อย่างไรก็ตาม ทางการฮังการีได้มีมาตรการระงับผู้ประกอบการฟาร์มสุกรในพื้นที่ติดเชื้อส่งออกเนื้อหมูไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆแล้ว

นิวซีแลนด์เชือดโคนมกว่า 22,000 ตัว เหตุติดเชื้อ
                เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลนิวซีแลนด์มีคำสั่งให้กำจัดโคนมในประเทศกว่า 22,000 ตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma) แพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ เชื้อดังกล่าวพบครั้งแรกที่เมือง North Canterbury ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สำหรับเชื้อไมโคพลาสมานั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขลักษณะของสัตว์  รวมถึงเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม โรคข้อต่ออักเสบ พิการ เต้านมอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการแท้งในสัตว์ หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่เชื้อดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์นม หรือผลิตภัณฑ์เนื้อ รายงานยังระบุอีกว่า ในขณะนี้พบโคนมที่ติดเชื้อที่ถูกเลี้ยงอยู่ในฟาร์มมากถึง 33 แห่ง โดยทางการได้แยกโคนมที่ติดเชื้อออกมาจากฟาร์มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม การกำจัดโคนมในครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายครั้งใหญ่แก่ฟาร์มผู้ผลิต แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว และเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น