วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Food Law Update__EU:EU กำหนดเงื่อนไขการผลิต การแปรรูป และการนำเข้าโปรตีนสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศตีพิมพ์ Commission Regulation (EU) 2017/893 of 24 May 2017 amending Annexes I and IV to Regulation (EC) No 999/2001 of the European Parliament and of the Council and Annexes X, XIV and XV to Commission Regulation (EU) No 142/2011 as regards the provisions on processed animal protein ใน EU Official Journal L 138/92 ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการผลิต การแปรรูป และการนำเข้าโปรตีนสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
               ๑. ข้อกำหนดของโปรตีนสัตว์แปรรูปจากแมลง :
                       ๑.๑ อนุญาตให้มีการใช้โปรตีนสัตว์แปรรูปจากแมลง สำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง จากการประเมินของ EFSA พบว่า แมลงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมีความปลอดภัยและเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนที่ดีในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ประเภทที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง ดังนั้น จึงเห็นควรให้แก้ไข Annex X Section 1 Chapter II ใน Regulation (EU) No 142/2011 โดยให้เพิ่มรายชื่อแมลงที่อนุญาตให้ใช้ในการผลิตโปรตีนสัตว์แปรรูปได้ ซึ่งได้แก่ (๑) Black Soldier Fly (Hermetia illucens), (๒) Common Housefly (Musca domestica), (๓) Yellow Mealworm (Tenebrio molitor), (๔) Lesser Mealworm (Alphitobius diaperinus), (๕) House cricket (Acheta domesticus), (๖) Banded cricket (Gryllodes sigillatus) และ (๗) Field cricket (Gryllus assimilis)  
                       ๑.๒ อย่างไรก็ดี การแปรรูปจะต้องระมัดระวังการปนเปื้อนกับโปรตีนชนิดอื่น โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของ BSE จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยการแปรรูปแมลงนั้นจะต้องกระทำในโรงงานที่มีแต่การแปรรูปแมลงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ห้ามกระทำร่วมกับการแปรรูปโปรตีนชนิดอื่นๆ รวมถึงจะต้องไม่ใช้มูลสัตว์เคี้ยวเอื้อง/มูลมนุษย์ โปรตีน เนื้อและกระดูกป่นจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง และของเหลือเศษอาหาร ในการเลี้ยงแมลงดังกล่าว
                       ๑.๓ กำหนดแบบฟอร์มใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) สำหรับการขอนำเข้าโปรตีนสัตว์แปรรูปจากแมลงที่ไม่ใช่สำหรับการบริโภคของมนุษย์ รวมถึงอาหารสัตว์ผสมและสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของโปรตีนดังกล่าว ที่นำเข้าจากประเทศที่สามไปยังสหภาพยุโรปหรือเพื่อส่งต่อไปยังอีกประเทศหนึ่ง
                       ๑.๔ กำหนดเงื่อนไขการขนส่งและการจัดเก็บวัตถุดิบอาหารสัตว์ (feed materials) และ อาหารสัตว์ผสม (compound feed) สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง (ตาม section A)
                       ๑.๕ กำหนดเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการใช้ dicalcium phosphate และ tricalcium phosphate ที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์และอาหารสัตว์ผสม (compound feed) ที่มีส่วนผสมของ phosphates ในการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง นอกเหนือไปจากสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเอาขน (fur animals) (ตาม section B)
                        ๑.๖ กำหนดเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการผลิตและใช้โปรตีนสัตว์แปรรูปจากสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง นอกเหนือไปจากปลาป่นและโปรตีนสัตว์แปรรูปที่ได้จากแมลงเพาะเลี้ยง และอาหารสัตว์ผสม (compound feed) ที่มีส่วนผสมของโปรตีนดังกล่าว สำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง (ตาม section D)
                       ๑.๗ กำหนดเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการผลิตและใช้โปรตีนสัตว์แปรรูปจากแมลงเพาะเลี้ยงและอาหารสัตว์ผสม (compound feed) ที่มีส่วนผสมของโปรตีนดังกล่าว สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง (ตาม section F)
               ๒. ข้อกำหนดของโปรตีนสัตว์แปรรูปจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง (โค-กระบือ แกะ และแพะ) : เนื่องจากสถานการณ์ของโรควัวบ้า (BSE) ในสหภาพยุโรปมีความปลอดภัยขึ้นแล้ว ดังนั้น EU จึงเห็นควรยกเลิกการห้ามส่งออกโปรตีนสัตว์ที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง อย่างไรก็ดี ยังคงไม่อนุญาตให้มีส่วนผสมของเนื้อและกระดูกป่น (meat-and-bone-meal) ปนอยู่ด้วย รวมถึงการขนส่งโปรตีนสัตว์ดังกล่าวจะต้องปิดผนึกตู้สินค้าตั้งแต่โรงงานไปจนถึงจุดออกจาก EU  (point of exit from the Union)  
                       ๒.๑ กำหนดให้มีการขึ้นบัญชีโรงงาน (โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป โรงตัดแต่ง โรงงานผลิต และโรงจัดเก็บ) ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
                       ๒.๒ กำหนดเงื่อนไขการขนส่งและการจัดเก็บวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ผสมสำหรับสัตว์ที่มีส่วนผสมของสัตว์เคี้ยวเอื้อง
                       ๒.๓ กำหนดเงื่อนไขการผลิตอาหารสัตว์ผสมสำหรับสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเอาขนหรือสัตว์เลี้ยงในบ้านที่มีส่วนผสมของสัตว์เคี้ยวเอื้องหรือที่ไม่ใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง
                       ๒.๔ กำหนดเงื่อนไขการใช้และการจัดเก็บวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ผสมสำหรับสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มที่มีส่วนผสมของสัตว์เคี้ยวเอื้อง
                       ๒.๕ กำหนดเงื่อนไขการส่งออกโปรตีนสัตว์แปรรูปและสินค้าที่มีส่วนผสมของโปรตีนสัตว์เคี้ยวเอื้อง  
               ๓. กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี อนุโลมให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำหรับข้อแก้ไขใน Annex IV Regulation (EC) No 999/2001 ให้มีผลปรับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป
                   สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ดังนี้
                โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น