องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ ๑๖ ตุลาคมของ ทุกปี เป็น “วันอาหารโลก หรือ World Food Day” เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ มีจิตสำนึกเกี่ยวกับอาหาร และการพัฒนา รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ระดับชาติและนานาชาติในการต่อสู้กับ ความอดอยาก หิวโหย ทุพโภชนาการ และความยากจน แต่ปัจจุบันยังมีประชากรโลกมากถึง ๘๐๐ ล้านคนที่ตกอยู่ในภาวะ ขาดแคลนสารอาหารเรื้อรัง ในขณะที่ราว ๑ ใน ๓ ของอาหารที่ผลิตขึ้นกลับถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่าระหว่าง ขั้นตอนการผลิตไปจนอาหารถึงมือผู้บริโภคหรือคิดเป็นปริมาณราว ๑.๓ ล้านตันต่อปี
FAO คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ๒,๐๐๐ ล้านคน เป็น ๙,๐๐๐ ล้านคนภายในปี ๒๕๙๓ (ค.ศ. ๒๐๕๐) นั่นหมายถึง ความต้องการบริโภคอาหารจะเพิ่มขึ้นอีก ๗๐% แต่ปัจจัยเสี่ยงจากทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การผลิตอาหารของโลกมีขีดจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ จะต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อให้การผลิตอาหารเพียงพอต่อการเลี้ยงดูประชากรโลก ในอนาคต
ในแต่ละปี EU มีขยะอาหาร (food waste) เกิดขึ้นราว ๑๐๐ ล้านตัน หากปล่อยให้ เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าปริมาณขยะอาหารใน EU อาจเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒๐ ล้านตันภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) ปัญหาขยะอาหารไม่ได้เป็นเพียงแค่การขัดต่อจริยธรรมและสร้างความเสียหายต่อ เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า EU จึงรณรงค์เรื่องการป้องกัน และลดการทิ้งอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ระดับฟาร์มไปจนถึงผู้บริโภค (from farm to fork) ซึ่งการลดขยะอาหารจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิต และการบริโภค
ในปี ๒๕๕๗ คณะกรรมาธิการยุโรปออกแผนการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Towards a circular economy : a zero waste programme for Europe) โดยมุ่งส่งเสริมการเติบโต ทางเศรษฐกิจ ผลิตขยะปริมาณต่ำและรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอายุยืนยาวและมีประสิทธิภาพ และในปี เดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้มีการทบทวนกฎระเบียบการนำกลับมาใช้ใหม่และเป้า หมายของ ขยะประเภทต่างๆ (Legislative proposal to review recycling and other waste targets) โดย EU ตั้งเป้าหมายจะลดขยะอาหารให้ได้อย่างน้อย ๓๐% ภายในปี ๒๕๖๘ (ค.ศ. ๒๐๒๕) ซึ่งการลดขยะอาหาร สามารถทำได้ทุกขั้นตอนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงงานแปรรูปและ ครัวเรือน โดยก่อนจะทิ้งอาหารควรพิจารณาว่าสามารถนำอาหารดังกล่าวไปบริจาคหรือใช้ผลิต เป็นอาหาร สัตว์ได้หรือไม่ ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นค่อยนำไปผลิตพลังงานทดแทน ปุ๋ยหมัก ส่วนเศษอาหารที่ไม่สามารถ ใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้จึงนำไปฝังกลบ
งาน Milano Expo 2015 จัดขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ แนวคิดหลักของงานปีนี้ คือ “อาหารหล่อเลี้ยงโลก พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต (Feeding the Planet, Energy for Life)” ภายในงานได้มีการจัดแสดงนวัตกรรมการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร รวมถึงจัดการ อภิปรายหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารโลกและความยั่งยืน
หนึ่งในโครงการลดขยะอาหารที่ได้รับความสนใจในงานนี้ ก็คือ NOSHAN ซึ่งศึกษาเรื่อง การนำขยะอาหารมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ (turning food waste into feed) โครงการ NOSHAN ได้รับเงิน อุดหนุนจาก EU’s Seventh Framework Programme รวม ๓ ล้านยูโร เป็นโครงการศึกษาที่นำโดย สถาบัน LEITAT Technology Center ในประเทศสเปน ร่วมกับมือสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย SMEs และ อุตสาหกรรมอาหารในประเทศอื่นๆ อีก ๗ ประเทศ
จุดมุ่งหมายของโครงการ NOSHAN คือ การค้นคว้าหาเทคโนโลยีและวิธีแปรรูปที่ดีที่สุด เพื่อดึงพลังงานและองค์ประกอบที่มีประโยชน์ในขยะอาหารกลับมาใช้ใหม่ (เช่น ไฟเบอร์ โปรตีน โมเลกุล ที่ประกอบด้วยสาร antioxidant หรือสารต้านการอักเสบ) โดยนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ ใช้ พลังงานผลิตน้อยและเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบตั้งต้น การศึกษาเน้นใช้ขยะอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากนม เพราะเป็นกลุ่มอาหารที่ถูกทิ้งมากที่สุด แต่การผลิตอาหารเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ ที่ดิน พลังงาน แรงงาน และทุนเป็นจำนวนมาก การที่อาหารเหล่านี้ถูกทิ้งโดยไม่ได้บริโภคจึงเท่ากับ มีทรัพยากรที่ถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า โครงการ NOSHAN จึงให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณค่า ทางโภชนาการและเหมาะกับความต้องการสารอาหารของสัตว์ (สุกรและสัตว์ปีก) รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องความ ปลอดภัยและคุณภาพอาหารสัตว์เป็นหลัก
โครงการ NOSHAN เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ และมีกำหนดการสิ้นสุดในปี ๒๕๕๙ โดยความรู้ที่ได้จากโครงการ เช่น องค์ประกอบในอาหารสัตว์ที่ผลิตขึ้น เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด ต้นทุน และความปลอดภัยของอาหารสัตว์ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตร ทำให้ความสามารถ ในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีกของ EU ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการพึ่งพา การนำเข้าอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในขั้นตอนเก็บรวบรวมขยะอาหาร การผลิตและแปรรูปอาหารสัตว์ กระตุ้นให้เศรษฐกิจในชนบทเจริญเติบโตจากการดำเนินงานของโรงงานผลิต อาหารสัตว์ นอกจากนี้ การนำขยะอาหารกลับมาใช้ใหม่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้พลังงาน และทรัพยากรที่ใช้ไปกระบวนการผลิตอาหารถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า รวมทั้งทำให้ปัญหาการแก่งแย่งการ ใช้น้ำและที่ดินระหว่างพืชอาหารคนและพืชอาหารสัตว์ลดลง
การนำขยะอาหารมารีไซเคิลผลิตเป็นอาหารสำหรับสุกรและสัตว์ปีก จึงเป็นแนวทางที่ควร นำมาศึกษาความเป็นไปได้ในประเทศไทย เพราะนอกจากทำให้ขยะอาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วย ประหยัดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ของเกษตรกร ลดการนำเข้าอาหารสัตว์ ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ภายในห่วงโซ่อาหารคน และอาหารสัตว์ ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ดี ขยะอาหารที่เลือกใช้ควรมาจากแหล่ง ที่มีความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เช่น เศษอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า ปลีกหรือซุเปอร์มาร์เก็ต ส่วนขยะอาหารจากภาคครัวเรือนมักอยู่ในสภาพไม่ดีนักและไม่ได้มีการคัดแยก จึง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพสัตว์หรือทำให้เกิดโรค
ที่มา thaieurope.net กระทรวงการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น