วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

EU Food News_19 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเลือกห้ามปลูกพืช GM

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 58 ที่ผ่านมาเป็นวันครบกำหนดที่ คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดทางเลือกให้ประเทศสมาชิกอียู 28 ประเทศเลือกที่จะปลูกหรือห้ามปลูกพืช GM ที่ได้รับการอนุญาตในระดับอียูแล้ว ผลปรากฎว่า จำนวนประเทศที่เลือกที่จะห้ามปลูกพืช GM (opt-out) มี 19 ประเทศ ดังนี้ ออสเตรีย ภูมิภาควาโลเนียของเบลเยียม สหราชอาณาจักรเฉพาะสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ บัลกาเรีย โครเอเชีย ไซปรัส เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี (ยกเว้นการปลูกเพื่อการวิจัย) กรีซ ฮังการี อิตาลี ลัตเวีย ลิทูเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลต้า เนเธอแลนด์ โปแลนด์ และ สโลเวเนีย
            การยื่นคำร้องขอ opt-out นี้ เป็นการห้ามไม่ให้ปลูกข้าวโพด MON810 ของบริษัท Monsanto ซึ่งเป็นพืช GM ชนิดเดียวที่ปลูกเพื่อการค้าในสหภาพยุโรป โดยบริษัท Monsanto มีเวลา 1 เดือนเพื่อจะดำเนินการต่อคำร้องดังกล่าว
            แรงต้านทานไม่ให้มีการปลูกพืช GM จากจำนวนประเทศสมาชิกที่มีมากกว่าครึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้แก่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร ที่เป็นผู้ผลิตสินค้า GM เช่น Monsanto และ Syngenta เพื่อต้านทานไม่ให้มีการปลูกพืช GM และอาจมีผลกระทบต่อกระบวนการอนุมัติที่ยากลำบากขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อการสั่งห้ามเพาะปลูกพืช GM ได้ หากแต่ประเทศสมาชิกยังสามารถอ้างถึงเหตุผลที่เป็นรูปธรรมเพื่อใช้สั่งห้ามได้ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อปัญหาด้านการเกษตร

            ปัจจุบัน อียูรับรองและอนุมัติพืชและผลิตภัณฑ์ GM กว่า 70 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย พืชที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ ใช้เป็นอาหารสัตว์และ ไม้ตัดดอก อย่างไรก็ตาม จากการแก้ไขระเบียบเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ทำให้ประเทศสมาชิกสามารถสั่งห้ามปลูกพืช GM ได้โดยใช้เหตุผลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ส่วนเหตุผลที่เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์นั้น หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) เป็นผู้ดูแลโดยตรง สาเหตุสำคัญที่พืช GM ยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศสมาชิกเป็นเพราะบางประเทศเกรงว่า พืช GM จะเป็นภัยต่อสาธารณสุข และอาจส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สนับสนุนมองว่า ผลิตภัณฑ์ GM เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นกุญแจสำคัญในการเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
            นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 58 นายVytenis Andriukaitis กรรมาธิการยุโรปด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยด้านอาหาร (Health&Food Safety)ได้ยื่นเรื่องเสนอต่อสภายุโรปให้พิจารณาร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถห้ามพืช GM ที่ได้รับอนุญาตในระดับสหภาพยุโรปนำเข้าหรือใช้ในอาณาเขตของตน หลังจากที่มีประเทศสมาชิก 19 ประเทศเลือกที่จะห้ามปลูกพืชชนิดนี้ไปแล้ว การร้องขอนี้เป็นการเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประเทศสมาชิกในเรื่องพืช GM แต่ผลปรากฏว่า รัฐสภายุโรปไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการยุโรป โดยให้เหตุผลว่า การให้สิทธิแก่ประเทศสมาชิกที่จะห้ามขายหรือใช้พืช GM ซึ่งขายในประเทศสมาชิกอื่นและได้รับอนุญาตโดยสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดคำถามต่อหลักการเคลื่อนย้ายโดยเสรีของนโยบายตลาดร่วมของยุโรป และยากต่อการควบคุมแนวชายแดนได้ในทางปฏิบัติ เช่น ฝรั่งเศสจะป้องกันสินค้า GM ที่ส่งเข้ามาทางท่าเรือที่อันตเวิร์ปไม่ให้เข้ามาในฝรั่งเศสได้อย่างไร และมีวิธีไหนที่ใช้ตรวจสอบ อีกทั้งสภายุโรปยังให้เหตุผลด้วยว่าข้อเสนอจากกรรมาธิการยุโรปนั้นขาดข้อมูลการประเมินด้านผลกระทบที่จะเกิดตามมา
                                                                                                              เรียบเรียงโดยทีมงานไทยยุโรป
- See more at: http://www2.thaieurope.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น